สนข.ลุยโรดโชว์แลนด์บริดจ์ ดึงสายเดินเรือ10ชาติลงทุน ลุยประมูลPPPกลางปี68

28 ต.ค. 2566 | 11:50 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2566 | 11:58 น.

สนข.ลุย แลนด์บริดจ์ ประเดิมพ.ย.นี้ โรดโชว์สายการเดินเรือขนาดใหญ่ 10 ประเทศ ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศสร่วมลงทุน คาดเปิดประมูล PPP ได้ไม่เกินกลางปี 2568 ส่วนไฮสปีดไทย-จีน ระยะ 2 เปิดประมูลภายในไตรมาส 2 ของปี 2567

 

รัฐบาลสนับสนุนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ หากแล้วเสร็จ จะเป็นจุดหมายปลายทาง ขนส่งสินค้าเพิ่มขีดการแข่งขันระดับโลก โดยเฉพาะแลนด์บริดจ์มูลค่า 1 ล้านล้านบาท ที่มีผลการศึกษาแล้วเสร็จ และเห็นถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูง รวมถึงการเชื่อมต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนระยะที่ 2 จากนครราชสีมาไปยังหนองคาย เชื่อมต่อไปยังสปป.ลาว และจีนแผ่นดินใหญ่

 

  สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยจะดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนอีกครั้งตามแนวทางทั้ง 2 ฝั่งท่าเรือ ภายในพฤศจิกายนนี้ พร้อมจัดทำร่างรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย (EHIA)

ขณะเดียวกันสนข.มีแผนเตรียมเดินทางไปโรดโชว์ ในต่างประเทศที่มีสายการเดินเรือขนาดใหญ่ 10 ประเทศ อาทิ ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส เพื่อดึงนักลงทุนจากต่างประเทศตั้งแต่พฤศจิกายน 2566 หลังจากนั้นสนข. จะปรับปรุงรายละเอียด และวิเคราะห์โครงการตามข้อมูลที่ได้จากการโรดโชว์

หลังจากนั้น ภายในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 ก่อนเสนอครม.อนุมัติเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อไป หลังจากนั้นจะเริ่มเปิดประมูลในรูปแบบ PPP พร้อมกันทั้งโครงการฯ ไม่เกินกลางปี 2568 และลงนามเอกชนลงทุนในไตรมาส 3 ของปี 2568 คาดว่าจะทยอยเปิดโครงการในระยะแรกได้ภายในปี 2573

 ส่วนการประมูลของโครงการฯ เบื้องต้นเป็นการประมูลรวมทุกแพ็คเก็จ ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึก, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟ ซึ่งใช้รูปแบบการลงทุน International Bidding โดยให้สิทธิ์เอกชนในไทยและต่างประเทศ เป็นผู้ลงทุน 100% ส่วนรัฐจะให้สัมปทานพื้นที่ระยะเวลา 50 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าเอกชนรายใดสามารถบริหารพื้นที่ได้น้อยที่สุดตามที่ภาครัฐกำหนดจะได้รับคะแนนการพิจารณาเป็นผู้รับสัมปทานด้วย

 สำหรับวงเงินในการลงทุนทั้งโครงการฯ อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ระยะ มีระยะเวลาในการก่อสร้างรวม 8 ปี โดยมีรูปแบบการก่อสร้างท่าเรือฝั่งชุมพร-ระนอง เป็นพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าฝั่งชุมพร-ระนอง และมูลค่าลงทุนเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ โดยระยะที่ 1 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 5.22 แสนล้านบาท ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 1.64 แสนล้านบาท ระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.28 แสนล้านบาท และระยะที่ 4 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 8.51 หมื่นล้านบาท

ด้านการก่อสร้างท่าเรือฝั่งระนอง แบ่งการพัฒนาเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2571 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2573 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 6 ล้าน TEU ระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2574 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2576 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 12 ล้าน TEU และระยะที่ 3 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2577 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2578 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 20 ล้าน TEU

   ขณะการก่อสร้างท่าเรือฝั่งชุมพร แบ่งการพัฒนาเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2571 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2573 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 4 ล้าน TEU ระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2575 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2576 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 8 ล้าน TEU

  ระยะที่ 3 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2577 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2578 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 14 ล้าน TEU และระยะที่ 4 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2579 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2581 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 20 ล้าน TEU

 ด้านความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) ไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ(เฟส) ที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 341,351 ล้านบาท ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างแก้ไขรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)

คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในเดือนธันวาคม 2566 คาดว่าจะเปิดประมูลภายในไตรมาส 2 ของปี 2567 และเริ่มก่อสร้างภายในเดือนธันวาคม 2567 พร้อมเปิดให้บริการปี 2573 ทั้งนี้ โครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2 มีเส้นทางครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา, จ.ขอนแก่น, จ.อุดรธานี และจ.หนองคาย

เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางที่มีความรวดเร็ว และความปลอดภัยให้ประชาชนรวมทั้งยังเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อการค้าการลงทุนของไทยกับ สปป.ลาว และประเทศจีนด้วย โดยรถไฟสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุด 250 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง(ชม.) ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังหนองคาย ระยะทางรวม 609 กิโลเมตร (กม.) ประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที