นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยมีมูลหนี้ประมาณ 15-16 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 90% ต่อจีดีพี ซึ่งในภาระหนี้ครัวเรือนดังกล่าว ส่วนที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีประมาณ 10 % ซึ่งกระทรวงการคลัง ก็ได้มีการวางเป้าหมายที่ต้องการลดภาระหนี้ครัวเรือนของประเทศลงสู่ระดับ 80%ต่อจีดีพี
ขณะที่หนึ่งในแนวทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น คือ การตัดลดภาระหนี้บางส่วนกับลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียกับธนาคารโดยเฉพาะกับสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อให้คนเหล่านั้น สามารถออกจาก black list ของเครดิตบูโร และสามารถดำเนินชีวิตได้ต่อไป
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ธนาคารออมสิน เป็นผู้รับผิดชอบดูแลโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของรัฐบาล ด้วยการจัดตั้ง AMC เพื่อมาบริหารหนี้เสียในภาคครัวเรือน ซึ่งจะนำหนี้เสียที่อยู่ในสถาบันการเงินของรัฐ ให้มาอยู่ภายใต้การบริหารของ AMC แห่งนี้ และในอนาคตหากธนาคารพาณิชย์เอกชน ต้องการนำหนี้เสียของตนเองมาให้ AMC แห่งนี้บริหารก็สามารถทำได้
“การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของหนี้ภาคครัวเรือน น่าจะเป็นผลดีต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ เนื่องจากหนี้ที่เป็น NPL เหล่านั้น ทางสถาบันการเงินได้สำรองเต็ม 100 % ไปแล้ว ดังนั้น หากสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้เหล่านั้นและได้รับการชำระหนี้กลับคืนมาเท่าไหร่ ก็จะเป็นกำไรของสถาบันการเงินเท่านั้น”
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ธนาคารออมสิน ไปวางระบบเมนูในการปรับโครงสร้างหนี้ของหนี้ภาคครัวเรือน เพื่อให้สะดวกแก่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น เมนูการลดหนี้ และการยืดระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ยังได้เน้นให้กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เร่งนำแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ 18 ล้านคน ซึ่งยังไม่มีระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุ เข้ามาสู่ระบบ การออมเพื่อการเกษียณของ กอช.
“แรงงานนอกระบบทั้ง 18 ล้านคนดังกล่าว ในจำนวนนี้ มี 10 ล้านคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 40 ซึ่งมีระบบการออมที่ได้รับบำเหน็จที่เหลืออีก 8 ล้านคน ไม่ได้อยู่ในระบบการออมเพื่อการเกษียณใดๆ เลย ซึ่งได้มอบหมายให้ กอช.เร่งนำแรงงานทั้ง 8 ล้านคนเข้าระบบ โดยมีเป้าหมายในปี 2567 อย่างน้อย 5-6 ล้านคนจาก 8 ล้านคน จะต้องเข้าระบบกอช.”