แนวโน้ม “สังคมสูงวัย” ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ความต้องการ ใช้ชีวิตหลังเกษียณในต่างประเทศ ได้รับความสนใจมากขึ้น โดย ประเทศไทย เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับ การจัดอันดับประเทศน่าอยู่สำหรับชาวต่างชาติวัยเกษียณ เนื่องจากค่าครองชีพไม่สูง และคาดว่าเงินเฟ้อในปีนี้ (2566) จะชะลอตัวอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยวานนี้ (1 พ.ย.) ถึงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือนก.ย. 2566 เทียบกับเดือนก.ย. 2565 สูงขึ้นเพียง 0.30% และเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 สูงขึ้น 1.85%
“อัตราเงินเฟ้อของไทยที่อยู่ในระดับดังกล่าว จะเป็นจุดดึงดูดให้ชาวต่างชาติมาใช้ชีวิตวัยเกษียณที่ประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคบริการของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับโลกต่อไป” ผอ.สนค.ระบุ
ทั้งนี้ จากรายงานขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ปี 2565 พบว่า ประชากรในหลายประเทศทั่วโลกกำลังมีอายุสูงขึ้น โดยประชากรโลกที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีจำนวนมากกว่า 770 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 9.7% ของประชากรโลก
และอีก 27 ปีข้างหน้า (ปี พ.ศ. 2593) จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเกือบ 1,600 ล้านคน หรือมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 16.4% จากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ดังนั้น แนวคิดการใช้ชีวิตวัยเกษียณในต่างประเทศจึงได้รับความสนใจมากขึ้นเป็นลำดับ
สถิติที่ผ่านมา ชี้ชัดว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับความสนใจ และอยู่ในกลุ่มประเทศน่าอยู่สำหรับวัยเกษียณซึ่งมีการจัดอันดับจากองค์กรสื่อของต่างประเทศ โดยมีผลการจัดอันดับล่าสุดในปี 2566 อาทิ
1. ดัชนีเกษียณอายุโลก (Annual Global Retirement Index 2023) ที่จัดทำและเผยแพร่ทุกปีโดย International Living ซึ่งเป็นสื่อสัญชาติสหรัฐอเมริกา พบว่า ประเทศไทย เป็นประเทศเดียวในทวีปเอเชียที่ได้รับการจัดอันดับ โดยอยู่อันดับ 9 ร่วมกับประเทศอิตาลี จาก 16 ประเทศ
สำหรับประเทศที่เหมาะสำหรับการใช้ชีวิตวัยเกษียณมากที่สุด 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ โปรตุเกส เม็กซิโก ปานามา เอกวาดอร์ และคอสตาริกา
ทั้งนี้ ผลการจัดอันดับคะแนนด้านค่าครองชีพตั้งแต่ปี 2564-2566 ของไทย ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรืออาจกล่าวได้ว่า ค่าครองชีพของไทยลดน้อยลง ในส่วนของการจัดทำดัชนีฯ ดังกล่าว พิจารณาจากปัจจัย 7 ด้าน ได้แก่
2. การจัดอันดับประเทศที่น่าอยู่ที่สุดสำหรับวัยเกษียณ (Best Countries for a Comfortable Retirement 2023) ที่จัดทำและเผยแพร่ทุกปีโดย U.S. News and World Report สื่อสัญชาติสหรัฐอเมริกา พบว่า ประเทศไทย เป็นประเทศที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุดในทวีปเอเชีย โดยอยู่อันดับที่ 18 จาก 87 ประเทศ สำหรับประเทศที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ โปรตุเกส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสเปน
ทั้งนี้ ผลการจัดอันดับคะแนนด้านค่าครองชีพตั้งแต่ปี 2562-2566 ของไทย มีคะแนนอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของการจัดอันดับฯ ดังกล่าว พิจารณาจากปัจจัย 7 ด้าน ได้แก่ ระดับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต นโยบายภาษี ความเป็นมิตร สภาพภูมิอากาศ การเคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ระบบสาธารณสุข และความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสำรวจเกี่ยวกับประเทศที่ตนเห็นว่าน่าอยู่อาศัย
เมื่อพิจารณาคะแนนที่ประเทศไทยได้รับในปัจจัยคัดเลือกของทั้ง 2 องค์กร ชี้ให้เห็นว่า คุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดของประเทศไทยคือ "ระดับค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตที่ไม่สูงมากนักในทรรศนะของต่างชาติ" สะท้อนจากคะแนนหมวดค่าครองชีพของ International Living และหมวดระดับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของ U.S. News and World Report ที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับเกณฑ์ทั้งหมด
อีกทั้งยังเป็นหมวดที่ประเทศไทยได้รับคะแนนค่อนข้างสูงมากตลอด การจัดอับดับในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากระดับราคาสินค้าและบริการ ซึ่งสะท้อนผ่านดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเครื่องชี้วัดค่าครองชีพของไทย ที่การเคลื่อนไหวไม่ผันผวนมากนักเมื่อเทียบกับ 21 ประเทศ อาทิ โปรตุเกส สเปน อิตาลี ที่ได้รับการจัดอันดับกลุ่มประเทศน่าอยู่สำหรับวัยเกษียณเช่นกัน
ทั้งนี้ ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เดือนล่าสุด (ส.ค. 2566) พบว่า ประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (ไทย มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และสปป.ลาว)
“นอกจากภูมิทัศน์ของประเทศที่สวยงาม วัฒนธรรมที่สืบสานกันมายาวนาน ความเป็นมิตร และความมีน้ำใจของคนไทยแล้ว ระดับค่าครองชีพที่ไม่สูงมาก ยังเป็นจุดขายที่ชาวต่างชาติสนใจมาวางแผนเกษียณที่ประเทศไทยมากขึ้น และด้วยมาตรการช่วยเหลือดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ” นายพูนพงษ์กล่าว
นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยให้สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจ ยังทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อปีนี้ชะลอตัวอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและดึงดูดการเป็น “หมุดหมาย” ของกลุ่มผู้สูงวัยต่างชาติให้เข้ามาพำนักในประเทศระยะยาว และหากสามารถดึงกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงได้ ก็จะเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างรายได้ให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธุรกิจสุขภาพ การแพทย์การท่องเที่ยว อาหาร และอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคบริการให้สูงขึ้น เพื่อรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขันในเวทีโลกในระยะต่อไป