จับตา ครม. ถกพักหนี้สหกรณ์ ลุยปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือชาวนา

06 พ.ย. 2566 | 22:50 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ย. 2566 | 01:48 น.

จับตาการประชุมครม. วันนี้ ลุ้น กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอขยายมาตรการพักหนี้เกษตรกร ให้ครอบคลุมไปถึงสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พร้อมชงมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือชาวนา 2 มาตรการ

วันนี้ (7 พฤศจิกายน 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยต้องติดตามวาระครม. ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เสนอเข้ามา ซึ่งคาดว่า วันนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเสนอการขยายมาตรการพักหนี้เกษตรกร ให้ครอบคลุมไปถึงสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือชาวนาด้วย

ทั้งนี้ในการผลักดันมาตรการช่วยเหลือชาวนา หรือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในฤดูกาลผลิต ปี 2566/67 ผ่านมาตรการสินเชื่อนั้น ที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า กระทรวงเกษตรฯ พร้อมนำเสนอ ครม. วันที่ 7 พฤศจิกายน นี้ พิจารณาโครงการพักชำระหนี้ให้ครอบคลุมเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ 

โดยจะดำเนินการในลักษณะเดียวกับลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ได้รับการพักหนี้ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ โดยแนวทางการพักหนี้สหกรณ์ มีเงื่อนไขเบื้องต้น คือต้องเป็นสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ที่มีหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท และเป็นการพักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 

 

จับตา ครม. ถกพักหนี้สหกรณ์ ลุยปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือชาวนา

ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตร ยังเสนอขอชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 4.5% เป็นเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 –   30 กันยายน 2569 ซึ่งคาดว่า จะใช้วงเงินรวมกว่า 55,038.96  ล้านบาท แบ่งเป็น วงเงินสินเชื่อของ ธ.ก.ส. 44,437 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 10,601.96 ล้านบาท

ทั้งนี้คาดว่ามีสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข จำนวน 707,213 ราย คิดเป็นมูลหนี้รวม 88,131.33 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ยังเตรียมเสนอ 2 มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 ด้วยวงเงินจ่ายขาด 10,601.96 ล้านบาท เพื่อนำเสนอต่อครม. โดยมีมาตรการดังนี้

 

จับตา ครม. ถกพักหนี้สหกรณ์ ลุยปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือชาวนา

1. สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี วงเงิน 10,120.71 ล้านบาท มีเป้าหมาย 3 ล้านตัน โดยจะช่วยค่าฝาก 1,500 บาทต่อตัน (สหกรณ์รับ 1,000 บาท/ตัน+เกษตรกรรับ 500 บาท/ตัน) ให้เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1-5 เดือนเริ่ม 1 ตุลาคม 2566 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 

โดยกำหนดราคาข้าวหอมมะลิตันละ 12,000 บาท ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวหอมมะลิปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเจ้า ตันละ 9,000 บาท ข้าวเหนียวตันละ 10,000 บาท หากราคาข้าวขึ้น รวมถึงเกษตรกรรายย่อยที่มียุ้งฉาง ซึ่งจะเริ่มจ่ายเงินหลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบเป็นต้นไป

2. สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม วงเงิน 481.25 ล้านบาท มีเป้าหมาย 1 ล้านตัน โดยสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% และ รัฐช่วยดอกเบี้ย 3.85% ระยะเวลา 15 เดือน เริ่ม 1 ตุลาคม 2566 ถึง 30 กันยายน 2567 ซึ่งจะเริ่มจ่ายเงินหลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบเช่นกัน