แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับเป็นแม่งานดูแลการจัดทำ 3 มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก และช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ปีการผลิต 2566/2567 ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อและการชดเชยดอกเบี้ย
ทั้งนี้ที่ประชุมได้รับทราบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกฯ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอมาแล้ว โดยเฉพาะ 3 มาตรการที่เกี่ยวข้องการการปล่อยสินเชื่อและการชดเชยดอกเบี้ย เพื่อช่วยดูดซับปริมาณข้าวไม่ให้ออกมาในระบบ ซึ่งมาตรการทั้งหมดนั้น มีวงเงินรวมกันกว่า 3,613 ล้านบาท
โดยมติที่ประชุมมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปรับปรุงมาตรการ โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นแม่งานรับผิดชอบ พร้อมทั้งดึงสหกรณ์เข้ามามีส่วนร่วม พร้อมทั้งประสานงานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมถึง ธนาคารกรุงไทย จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุปก็ให้นำมาเสนอมาตรการทั้งหมดเข้ามาให้ที่ประชุม นบข.พิจารณาอีกครั้ง ในการประชุมนัดถัดไป
สำหรับ 3 มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก และช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ปีการผลิต 2566/2567 ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อและการชดเชยดอกเบี้ย โดยมีเป้าหมายดูดซับปริมาณข้าวในตลาดจำนวน 14 ล้านตัน ประกอบด้วย
1. โครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67วงเงิน 10,120 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าวในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและได้ราคาต่ำกว่าตลาด โดยไม่คิดดอกเบี้ยกับเกษตรกร เป้าหมาย 3 ล้านตัน โดยช่วยเหลือ 1,500 บาทต่อตัน ในกรณีเข้าร่วมกับสหกรณ์ สหกรณ์รับ 1,000 บาทต่อตัน เกษตรกรรับ 500 บาทต่อตัน เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1 - 5 เดือน และให้นำออกขายเมื่อข้าวราคาดี
2. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก วงเงิน 2,120 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการดูดซับผลผลิตไว้เป็นระยะเวลา 2 - 6 เดือน โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐที่ผู้ประกอบการค้าข้าวเป็นลูกค้าอยู่ เป้าหมาย 10 ล้านตัน ช่วยดอกเบี้ย 4% เก็บสต๊อก 2 - 6 เดือน
3. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 481 ล้านบาท สำหรับสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิก เกษตรกรทั่วไป เป้าหมาย 1 ล้านตัน โดยช่วยดอกเบี้ย 15 เดือน ในอัตรา 3.85% สหกรณ์เสียดอกเบี้ย 1%
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุม นบข. ถึงการจัดทำมาตรการต่าง ๆ ว่า มาตรการที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอเข้ามาทั้งหมดนั้น ที่ประชุมได้พิจารณา เงื่อนไข และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่เป้าหมายที่จะชะลอสินเชื่อเพื่อให้ชะลอการสต็อกข้าวให้มากขึ้นเพื่อให้สามารถรักษาเสถียรภาพได้ถือเป็นเป้าหมายสำคัญ
“เบื้องต้นได้ให้มีสหกรณ์การเกษตร 4,000 แห่ง จากการตรวจสอบมีสหกรณ์การเกษตร 600 ที่แอคทีฟ และแข็งแรง เป็นลูกค้าที่ ธ.ก.ส. สามารถติดตามได้ ดังนั้นเราจะใช้มาตรการที่เปลี่ยนชื่อมาเป็นมาตรการที่ใช้สหกรณ์การเกษตรที่ชาวนาเป็นเจ้าของอยู่แล้ว เข้ามาดำเนินการแทน และการประชุม นบข. จะมีทุกเดือนในช่วงนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทันเวลา” รองนายกฯ ระบุ
นายภูมิธรรม กล่าวด้วยว่า ในส่วนของโรงสีที่เป็นกลไกที่ช่วยในการชะลอการขายข้าว ปัจจุบันทราบว่าโรงสีนั้นมีวงเงินอยู่กับธนาคารกรุงไทย แต่ถูกตัดกรอบวงเงินไปมากพอสมควร ดังนั้นจำนวนเงินหมุนเวียนที่จะนำมาส่งเสริมโครงการก็จะมีปัญหาไม่สามารถผลักดัน
ด้วยเหตุนี้ นบข. จึงได้ให้กระทรวงการคลังไปเจรจากับธนาคารกรุงไทย เพื่อให้ธนาคารกรุงไทยพิจารณาแก้ปัญหาของโรงสีซึ่งเป็นลูกค้าเก่าอยู่แล้วสามารถที่จะขยายสินเชื่อเพื่อรองรับที่จะแก้ปัญหาต่างๆ รายละเอียดกระทรวงการคลังและโรงสีจะเป็นผู้ดำเนินการแก้ปัญหาโดยหารือกับธนาคารกรุงไทย เพื่อให้เกิดกลไกที่ครบในการช่วยชะลอการขายข้าวออกมาในช่วงที่ผลผลิตออกมาสู่ตลาดจำนวนมากต่อไป