ระหว่างวันที่ 11-17 พฤศจิกายน 2566 นี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ เตรียมเดินทางเข้าร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา นอกจากการประชุมเอเปคแล้ว นายกรัฐมนตรี ยังมีกำหนดการหารือแบบทวิภาคีกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ด้วย
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมเดินทางกับนายกรัฐมนตรี โดยที่ผ่านมาได้เข้าหารือกับนายกฯ เพื่อเตรียมพร้อมข้อมูลในการเดินทางเข้าร่วมประชุมเอเปค และมีกำหนดการเข้าร่วมกับนายกฯ ในการหารือแบบทวิภาคีกับผู้นำประมาณ 4 ประเทศ ประกอบด้วย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ เกาหลีใต้
สำหรับการหารือแบบทวิภาคีกับผู้นำประมาณ 4 ประเทศ ทั้ง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ เกาหลีใต้ นั้น เนื้อหาสาระจะครอบคลุมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยในการหารือจะเน้นเรื่องแนวทางการร่วมมือทางการค้า และการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีระหว่างกัน
ดึง "แลนด์บริดจ์" โปรโมท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การเดินทางไปร่วมประชุมเอเปคกับนายกฯ ครั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ยังเตรียมข้อมูลโครงการแลนด์บริดจ์พร้อมสมบูรณ์แล้ว ทั้งวีดีโอทัศน์และผลประโยชน์ หากมาลงทุนแล้วจะเกิดผลประโยชน์อะไรบ้าง ซึ่งทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้นัดนักลงทุนจากสหรัฐมาร่วมรับฟัง และทูตสหรัฐฯ ก็ช่วยชักชวนให้บริษัทในสหรัฐอเมริกา เกือบ 20 บริษัทมาพูดคุยกัน
ส่วนจะสามารถดึงนักลงทุนจากจีน ยุโรป หรือ สหรัฐอเมริกา มาร่วมลงทุนได้หรือไม่นั้น ที่ผ่านมาบริษัทเอกชนที่สนใจลงทุนมีทั้งจากฝรั่งเศส ตะวันออกกลาง และจีน ในส่วนของสหรัฐอเมริกาเพิ่งเริ่มส่งข้อมูลไป เชื่อว่าโครงการนี้ถ้านักลงทุนเข้ามาจะได้รับผลตอบแทนที่ดีแน่นอน และโอกาสที่จะชักชวนมาลงทุนนั้นเป็นไปได้สูง
ด้าน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุกำหนดการเดินทางเพื่อเข้าร่วมการประชุมเอเปค และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องของนายกฯ โดยจะปฏิบัติภารกิจใน 6 ด้านหลัก คือ
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ไทยมีประเด็นสำคัญที่ต้องการผลักดัน ทั้งด้านการค้าการลงทุน ยกระดับ FTAs ความเชื่อมโยง ผ่านการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย ผ่านโครงการ Landbridge และ ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน โดยเฉพาะผ่านการท่องเที่ยว ความยั่งยืน สานต่อเป้าหมายกรุงเทพฯ
พร้อมทั้งยํ้าความมุ่งมั่นของไทยเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนฯ และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งเสริมการค้าดิจิทัล e-Commerce และนวัตกรรม รวมทั้ง ความครอบคลุมและความเท่าเทียม การขจัดความยากจน และลดความเหลื่อมลํ้า
นอกจากนี้ นายกฯ จะพบกับภาคเอกชนรายใหญ่ระดับโลก เป็นโอกาสให้เกิดการค้าการลงทุนในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่มีความสำคัญและประเทศไทยมีศักยภาพ เช่น สาขายานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล และการเงินและการธนาคาร ด้วย