วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ชุดใหญ่ ในเวลา 11.00 น. โดยภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้แถลงข่าวด้วยตัวเองในช่วงเวลา 14.00 น.
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งของการแถลงผลงานรัฐบาล 60 วัน ว่า ในการดำเนินนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งมีหลายมิติ โดยในวันที่ 10 พฤศจิกายน นี้ จะแถลงข่าวในรายละเอียดทั้งหมด เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจ
ทั้งนี้ในการแถลงข่าวนั้น นายกฯ ระบุว่า จะแจ้งให้ทราบถึงรายละเอียดของนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท สรุปได้ 5 ประเด็น ดังนี้
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ในการประชุม คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ชุดใหญ่ ครั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะเสนอรายละเอียดของโครงการเข้ามาให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณา หลังจากหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีข้อเสนอ ความคิดเห็น และข้อสรุปในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องของการจัดหาแหล่งวงเงินที่จะนำมาใช้ในการทำนโยบาย
โดยแหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมฯ ยอมรับว่า แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล จะมาจากงบประมาณรายประจำปีงบประมาณ 2567 และปี 2568 โดยตั้งเป้าหมายแจกเงินให้กับประชาชนในช่วงเดือนกันยายน 2567 ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนตุลาคม 2567
ขณะที่เงื่อนไขอื่น ๆ เกี่ยวกับการใช้เงินดิจิทัล จะนำรายละเอียดต่าง ๆ เข้ามาหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุป โดยอาจนำเสนอการจำกัดการใช้เงินว่าไม่สามารถนำไปใช้จ่ายกับร้านค้าที่เป็นการให้บริการต่าง ๆ จากกลุ่มผู้ประกอบการอิสระ เช่น ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย ร้านนวด สปา เป็นต้น โดยอาจกำหนดให้ใช้กับสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเป็นหลัก แต่ทั้งหมดนั้นต้องขอมติจากที่ประชุมก่อน
ส่วนเงื่อนไขการจำกัดพื้นที่การใช้เงินดิจิทัล เบื้องต้นน่าจะมีข้อสรุปของการขยายพื้นที่ของการใช้เงินดิจิทัลออกไป เพื่อให้เกิดความสะดวกกับผู้ใช้ โดยเฉพาะรายที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งอาจจะขยายจากเดิมกำหนดให้ใช้ในรัศมีไม่เกิน 4 กิโลเมตรตามบัตรประชาชน เป็นใช้ได้ในเขตหรืออำเภอได้
อีกเรื่องที่จะมีการหารือนั้นคือข้อเสนอของการตัดคนรวย หรือคนที่มีรายได้สูงออกจากโครงการ เพื่อลดกรอบวงเงินของโครงการลง เบื้องต้นต้องจับตาดูว่าจะมีการเสนอแนวทางเข้ามายังที่ประชุมให้ตัดสินใจว่าจะเลือกรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งนอกเหนือไปจากเงื่อนไขเดิม คือ ให้แบบถ้วนหน้า ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน ดังนี้
อย่างไรก็ตามในรายละเอียดทั้งหมด จะมีข้อสรุปอย่างไรนั้น ฐานเศรษฐกิจ จะเกาะติดข้อมูลมานำเสนอต่อไป