นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลงานของรัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า หากมองนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเศรษฐา 5 ด้านที่ตั้งเป้าหมายไว้ วันนี้หลายเรื่องถือว่าเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมจากการทำงานในเชิงรุก และความตั้งใจจริงของนายกรัฐมนตรีที่สะท้อนจากการทำงานและเดินหน้าลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนนี้ต้องให้เครดิตและชื่นชมรัฐบาลที่เดินหน้าแผนงานเร่งด่วนอย่างรวดเร็วภายใต้ระยะเวลา 3 เดือน
ทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกร ที่ได้มีมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรไปแล้ว การลดใช้จ่ายของประชาชนและผู้ประกอบการผ่านนโยบาลลดค่าพลังงาน ค่าไฟฟ้า ถือเป็นนโยบายที่ตรงใจและสอดคล้องกับข้อเสนอเร่งด่วนที่ภาคเอกชนเคยเสนอไว้ ขณะเดียวกัน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวจากต่างชาติ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งข้อเสนอของภาคเอกชนที่รัฐบาลขานรับอย่างทันที ซึ่งการออกมาตรการ ยกเว้น Visa แก่นักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน รัสเซีย อินเดีย และไต้หวัน น่าจะช่วยกระตุ้นให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีนี้ขยับขึ้นไปแตะที่ 28 - 29 ล้านคน
“วันนี้ประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาโดดเด่นได้ การเสริมสร้างขีดความสามารถในระยะยาวจึงเป็นโจทย์สำคัญสำคัญที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างค่าพลังงานของประเทศให้มีความเหมาะสม นอกจากจะทำให้ราคาไฟฟ้าลดลงซึ่งจะช่วยเอื้อและสนับสนุนให้เอกชนมีต้นทุนการผลิตที่แข่งขันกับคู่แข่งได้แล้ว ยังจะเป็นการดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างชาติให้เข้ามายังไทยมากขึ้น”
ขณะที่การดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ ในธุรกิจใหม่ ๆ ในประเทศ เป็นเรื่องที่จำเป็นมากและเห็นว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ แต่สิ่งสำคัญที่ไม่แพ้การวางโครงสร้างพื้นฐานและการให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนคืออำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ Ease of Doing Business และ Ease of Investment ที่จะต้องทำให้เห็นผล ปลดล็อคประเด็นข้อกังวลที่ทำให้การลงทุนติดขัด ซึ่งส่วนนี้จะช่วยเสริมความน่าสนใจให้กับประเทศไทยในอนาคตได้เป็นอย่างมาก
หอการค้าฯ อยากให้รัฐบาลเตรียมแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เพราะวันนี้เห็นชัดแล้วว่าการท่องเที่ยว และการส่งออก มีความไม่แน่นอนสูง และหลายปีที่ผ่านมา GDP ไทยยังไม่สามารถเติบโตได้ถึง 5% ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านต่างเร่งเครื่องเสริมการลงทุนกันอย่างต่อเนื่อง 3 เรื่องหลักที่หอการค้าอยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการในขณะนี้ คือ
1.เร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน วันนี้รัฐบาลจัดมาตรการลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในระสั้นแล้ว แต่ระยะกลางและยาว จำเป็นที่จะต้องเร่งหาแนวทางช่วยเหลือหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันจำเป็นที่จะต้องบูรณาการการทำงานกับสถาบันทางการเงินในการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยให้ธุรกิจ SME ขนาดเล็กให้สามารถดำเนินธุรกิจและจ้างงานต่อไปได้
2.เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ เดินหน้าจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่าง ๆ ให้มากและเร็วที่สุด โดยเฉพาะที่ยังค้างอยู่ เช่น ไทย-UAE , ไทย – EFTA, ไทย-ศรีลังกา,ไทย – EU, อาเซียน-แคนาดา, ไทย - ตุรกี, ไทย-ปากีสถาน เพื่อขยายโอกาสส่งออก รวมถึงขยายตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เป็น Strategic Country ได้แก่ จีน ซาอุดีอาระเบีย เวียดนาม อินเดีย และรักษานักลงทุนเดิมอย่างญี่ปุ่น และสหรัฐฯ
3.เร่งดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในธุรกิจสมัยใหม่ เพื่อให้ไทยก้าวข้ามประเทศผู้ผลิตสินค้าทั่วไปสู่ประเทศที่สามารถผลิตและเป็นเจ้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติ ซึ่งส่วนนี้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการดึงดูด Talent ต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันต้องยอมรับว่าแรงงานไทยที่มี Skill ในระดับสูงยังมีจำนวนน้อย
ในระยะแรกจึงจำเป็นต้องการดึง Talent เข้ามาช่วยเสริมศักยภาพในอุตสาหกรรมและธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีขึ้นสูง ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะ Talent เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ มีรายได้และการจับจ่ายที่สูง หากรัฐบาลสามารถอำนวยความสะดวกเรื่อง LTR และมีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เอื้อให้สามารถพำนักในระยะยาวได้ จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้มากขึ้นด้วย
นายสนั่นยังให้ความเห็นถึง โครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาลว่า ในหลักการสามารถช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประเทศได้ แต่ต้องพิจารณากำหนดกลุ่มเปราะบางที่มีความจำเป็นต่อการใช้จ่ายเป็นเกณฑ์ในการเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งการพิจารณาใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง ที่มีประชาชนลงทะเบียนยืนยันตัวตนและใช้จ่ายผ่านระบบอยู่ถือเป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ตาม หอการค้าฯ เห็นว่ารัฐบาลควรสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายและลงทุนในสินค้าหรือบริการที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ เพื่อให้เม็ดเงินเกิดการกระจายรายได้และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากที่สุดด้วย