นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า หลังจากที่สภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 เติบโตเพียง 1.5% นั้น ไม่ได้ถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะมีการส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้แล้ว ชัดเจนว่า ขาดการกระจายตัว และกระจุกอยู่ในกลุ่มภาคการท่องเที่ยวบางพื้นที่ ทั้ง โรงแรม ร้านอาหาร และอื่น ๆ
“ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหา โตช้า กลุ่มเปราะบางไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการเกษตร การบริโภคติดลบต่อเนื่อง ต้องได่รับการแก้ไข”
ส่วนภาคอุตสาหกรรมการผลิตหดตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้านี้ต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน มีการลงทุนที่ช้าลง อัตราการจ้างงาน และการเติบโตของค่าจ้างก็ช้าลงอย่างชัดเจน
ดังนั้น จากปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น ยอมรับว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทย ต้องได้รับการช่วยเหลือ รัฐบาลต้องควักทุกมาตรการที่จะพอทำได้แต่ต้องไม่ใช่การหว่านแห ต้องเป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ทั้งการช่วยเหลือระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งต้องใช้เวลา แต่ต้องรีบทำแล้ว
“หลาย ๆ นโยบายช่วยยลดค่าครองชีพ อย่างค่าไฟฟ้าและน้ำมัน อีกไม่นานก็จะหมดไป ซึ่งไม่ได้แปลว่าต่ออายุไม่ได้ แต่จะกระทบภาระทางการคลัง ดังนั้น รัฐบาลต้องเลือกจัดอันดับความสำคัญ ช่วยคนโตน้อย โตช้าก่อน ส่วนนโยบายจะตั้งรับอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำเชิงรุกด้วย ไม่เช่นนั้น ก็จะเป็นการเลี้ยงไข้ไปเรื่อย ๆ”
สำหรับมาตรการที่จะออกมานั้น ยืนยันต้องทำทั้งเชิงรับ และเชิงรุก แนะนำว่าต้องออกอาวุธที่พัฒนามาเป็นชุด ต้องทำควบคู่ไปพร้อมกันหลายด้าน ดังนี้
อย่างไรก็ตาม มองว่าภาคการส่งออก ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 แต่ในไตรมาสนี้ เขื่อว่าจะกลับมาเป็นบวกได้ เพราะฐานของปีที่แล้วในช่วงเดียวกันค่อนข้างต่ำ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอาหารแปรรูปน่าจะกลับมาเติบโตได้ดี
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาการส่งออกในระยะยาวจะรอเพียงแค่ให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไม่ได้ ต้องเปิดตลาดให้กว้างและลึกมากกว่านี้ ซึ่งเห็นว่ารัฐบาลกำลังเร่งทำ หวังว่าจะมีข่าวดีเข้ามาเรื่อย ๆ
“อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก ต้องรู้ว่าจะส่งออกไปไหน? เราเสียความสามารถทางการแข่งขันค่อนข้างมาก ประเทศอื่น ๆ มีข้อตกลงการค้าเสรี หรือสัญญาต่าง ๆ มากกว่าเรา”
สำหรับประมาณการ GDP ไทยในปีนี้ น่าจะต้องทบทวนตัวเลขใหม่อีกครั้ง เบื้องต้นคาดว่าจะเติบโตได้ต่ำกว่า 3% จากเดิม 3-3.5%
ส่วนปีหน้ายังคงเดิมเชื่อว่าจะโตได้ที่ 3.5% โดยไม่รวมมาตรการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท เพราะเชื่อว่าศักยภาพเศรษฐกิจไทยยังสามารถเติบโตได้อยู่ โดยปัจจัยบวกคือภาคการส่งออก และงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลมีผลบังคับใช้
แต่ถ้ารวมมาตรการแจกเงินดิจิทัลเข้าไปแล้ว เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้เพิ่มขึ้นราว 0.5% รวมเป็น 4% ในปีหน้า