เวิลด์แบงก์ เปิดความเหลื่อมล้ำ เศรษฐีไทย 10% ครองรายได้เกินครึ่งประเทศ

29 พ.ย. 2566 | 09:19 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2566 | 09:28 น.

เวิลด์แบงก์ เปิดข้อมูลความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย พบกลุ่มคนรวย ระดับเศรษฐีแค่ 10% ของคนไทยที่ร่ำรวยที่สุด ถือครองรายได้ และความมั่งคั่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ 

วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2566) ดร.นาเดีย เบลฮาจ ฮาสซีน เศรษฐกรอาวุโสด้านความยากจน ธนาคารโลก เปิดเผยรายงานการลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำและการจ้างงานในประเทศไทย ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความคืบหน้าในการลดช่องว่างระหว่างคนที่ร่ำรวยที่สุดและยากจนที่สุดเป็นอย่างมาก แต่ความคืบหน้าดังกล่าวได้ชะลอตัวลงนับตั้งแต่ปี 2556 ในปี 2564 ประเทศไทยมีสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาคด้านรายได้ อยู่ที่ 43.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของความไม่เสมอภาคของรายได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

 

 

ขณะที่การกระจุกตัวของรายได้ในครัวเรือนที่ร่ำรวยที่สุดนั้น พบว่ามีสัดส่วนที่สูงเป็นพิเศษ โดยในปี 2564 พบข้อมูลว่า กลุ่มคนแค่ 10% ของคนไทยที่ร่ำรวยที่สุด ถือครองรายได้ และความมั่งคั่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ

ดร.นาเดีย กล่าวด้วยว่า ปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายเรื่องของประเทศไทยยังคงมีความเหลื่อมล้ำอยู่ โดยปัจจุบันความเหลื่อมล้ำในระดับอาชีพและการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น

ขณะที่ปัญหาช่องว่างระหว่างเมืองและชนบทในปัจจุบันก็ยังมีความเหลื่อมล้ำในอัตราสูง โดยข้อมูลในปี 2563 ค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวของประชากรในกรุงเทพฯ สูงกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึง 6.5 เท่า ซึ่งมีรายได้ต่อหัวต่ำที่สุดในประเทศ

อีกเรื่องที่สำคัญคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางการศึกษาของประเทศ โดยเด็กที่มาจากครัวเรือนที่มีความร่ำรวยมีโอกาสในกานศึกษาที่ดีกว่าเด็กที่มาจากครัวเรือนยากจน และมีโอกาสได้งานที่ดีกว่าในอนาคต 

ส่วนผลคะแนนของนักเรียนไทยในโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ปี 2561 ยังแสดงให้เห็นผลลัพธ์การเรียนรู้ ของนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวยกว่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ยากจน

ดร.นาเดีย กล่าวว่า อุปสรรคของการเรียนทางไกลในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นกับนักเรียนในครัวเรือนที่ยากจนที่สุดของประเทศไทย คาดว่าการแพร่ระบาดของโควิด- 19 จะทำให้ช่องว่างการเรียนรู้กว้างขึ้น ความแตกต่างหว่างจำนวนปีของการศึกษากับจำนวนปีของการศึกษาที่ปรับด้วยคุณภาพการเรียนรู้ เพิ่มขึ้นจาก 3.7 ปี เป็น 4 ปี ส่งผลให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ของประเทศที่ยังอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้วนั้นยิ่งต่ำลงกว่าเดิม โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีรายได้น้อย

ด้วยเหตุนี้ ดัชนีทุนมนุษย์ซึ่งเป็นตัวชี้วัดของธนาคารโลกที่วัดการมีส่วนร่วมด้านสุขภาพและการศึกษาต่อประสิทธิภาพการผลิตของบุคคลและประเทศต่างๆ คาดว่าตัวเลขของประเทศไทยจะลดลงจาก 0.61 ในปี 2563 เหลือ 0.55 ในปี 2565

สถานการณ์โควิด-19 ยังทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้เกิดช่องว่างความมั่งคั่ง อัตราโดยรวมของครัวเรือนที่เป็นหนี้ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 45.2% เป็น 51.5% ระหว่างปี 2562 ถึง 2564 เนื่องจากการกู้ยืมของครัวเรือนเพื่อชดเชยการสูญเสียรายได้