"ESG" แนวทางตอบโจทย์ธุรกิจ สู่อนาคตที่ยั่งยืน

06 ธ.ค. 2566 | 03:03 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ธ.ค. 2566 | 03:03 น.

สนค.แนะดำเนินธุรกิจตามเเนวทาง “ESG” จะส่งผลต่อศักยภาพของธุรกิจในระยะยาว และสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าธุรกิจที่แสวงหาเพียงแค่ผลกำไร

การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นภาพสะท้อนภาพการดำเนินธุรกิจของบริษัทให้ความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง เพราะเมื่อธุรกิจมีรูปแบบการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ได้มาตรฐาน ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้ติดตามแนวโน้มการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ ESG จะเป็นบรรทัดฐานการทำธุรกิจในอนาคต ซึ่งหมายความว่า การทำธุรกิจจะไม่ได้หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ด้วย สหภาพยุโรป (EU) เป็นตัวอย่างของต่างประเทศ ที่มีมาตรการเข้มข้นเพื่อส่งเสริมและผลักดันภาคธุรกิจให้ดำเนินการตามแนวทาง ESG

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

ในปี 2563 EU ได้ออกกฎหมายการจัดหมวดหมู่ธุรกิจสีเขียว (EU Taxonomy) และมีการออกกฎหมายอื่น ๆ ตามมา อาทิ กฎหมายการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน (Corporate Sustainability Reporting Directive: CSRD) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 กฎหมาย CSRD กำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่และบริษัทจดทะเบียน (Listed Company) ต้องเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสที่การดำเนินธุรกิจของบริษัทจะส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้นักลงทุนหรือผู้มีส่วนได้เสียมีข้อมูลในการประเมินผลงานของบริษัทในด้านความยั่งยืน โดยข้อมูลที่ต้องเปิดเผยเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการด้านต่าง ๆ ของบริษัท เช่น สิ่งแวดล้อม สังคม การปฏิบัติต่อพนักงาน การต่อต้านทุจริต และความหลากหลายของคณะกรรรมการบริษัท

นอกจากนี้ EU อยู่ระหว่างจัดทำกฎหมายการสอบทานธุรกิจด้านความยั่งยืน (The Corporate Sustainability Due Diligence Directive: CSDDD) โดยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 รัฐสภายุโรปเห็นชอบร่างกฎหมาย CSDDD ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้บริษัททั้งสัญชาติ EU หรือบริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจใน EU ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ต้องสอบทาน (Due Diligence) กิจกรรมของตนเองและของซัพพลายเออร์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ในการสอบทานมีสิ่งที่ต้องดำเนินการ

อาทิ จัดทำนโยบาย Due Diligence จัดทำจรรยาบรรณธุรกิจ บ่งชี้ถึงผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินกิจกรรมของบริษัท และมีแนวทางป้องกันและบรรเทาผลกระทบ ตลอดจนให้เผยแพร่รายงานการดำเนินการตามกฎหมาย CSDDD บนเว็บไซต์ของบริษัท ทั้งนี้ คาดว่ากฎหมาย CSDDD จะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2567

\"ESG\" แนวทางตอบโจทย์ธุรกิจ สู่อนาคตที่ยั่งยืน

ความจำเป็นของภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวสู่แนวทาง ESG

ESG เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่จะมีความสำคัญมากขึ้นต่อไปในอนาคต ซึ่งประเทศไทยตื่นตัวและเล็งเห็นถึงความจำเป็นของภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวสู่แนวทาง ESG โดยตั้งแต่ปี 2558 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน ซึ่งเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ในปี 2561 ได้มีการจัดทำดัชนีความยั่งยืน (SET ESG Index) ขึ้นเป็นครั้งแรก

และเมื่อกลางปี 2565 ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยแพร่ "คู่มือการรายงานความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน" และ "เอกสารแนะนำตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน (ESG Metrics) ตามกลุ่มอุตสาหกรรม" เพื่อเป็นแนวทางให้กับภาคธุรกิจในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุนในการตัดสินใจลงทุน

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มีการจัดทำมาตรฐานกลางเพื่อจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทยที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ได้เผยแพร่ "มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 1" ซึ่งมุ่งเน้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคพลังงานและภาคการขนส่งก่อน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้อ้างอิงการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และเป็นเครื่องมือช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่แนวทาง ESG

\"ESG\" แนวทางตอบโจทย์ธุรกิจ สู่อนาคตที่ยั่งยืน

กองทุน TESG ส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืน 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฯ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ซื้อกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund: TESG) ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ซื้อกองทุน TESG ในอัตราร้อยละ 30 ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี และยกเว้นภาษีกำไรจากการขายหน่วยลงทุนหากถือครบเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 8 ปี มาตรการดังกล่าว ให้เริ่มทันทีจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2575

กองทุน TESG มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการออมผ่านการลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น โดยกองทุน TESG จะจำกัดให้ลงทุนเฉพาะบริษัทในประเทศไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้บริษัทไทยดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG ผู้ลงทุนสามารถซื้อหน่วยลงทุน TESG และนำมาลดหย่อนภาษีงวดปี 2566 ได้ทันที

\"ESG\" แนวทางตอบโจทย์ธุรกิจ สู่อนาคตที่ยั่งยืน

การดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเป็นแนวโน้มสำคัญที่ไม่สามารถมองข้าม การดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG จะส่งผลต่อศักยภาพของธุรกิจในระยะยาว และสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าธุรกิจที่แสวงหาเพียงแค่ผลกำไร" ผอ. สนค. กล่าว