วันนี้ (7 ธันวาคม 2566) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาแถลงยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ประจำปี 2567 หัวข้อ “นโยบายและทิศทางการพัฒนาตลาดทุนไทย” ว่า ขณะนี้ความยั่งยืนที่เห็นได้เป็นรูปธรรม คือ การจัดตั้ง “Thailand ESG Fund” ซึ่งประเทศไทยมีจุดเด่นในเรื่องเหล่านี้ โดยปัจจุบันก็มีบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่ดัชนีความยั่งยืนในระดับสากลจำนวนมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
ทั้งนี้ข้อมูลเบื้องต้นคาดการณ์ว่า จะมีบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) ที่เสนอขายกองทุน Thai ESG จำนวน 16 บลจ. จำนวนกองทุน 25 กองทุน สร้างเงินระดมทุนไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท จากผู้ลงทุนที่อายุตั้งแต่ 30-60 ปี ไม่น้อยกว่า 100,000 บัญชี และคาดว่าจะช่วยสร้างนักลงทุนหน้าใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับตลาดทุนเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ดึงศักยภาพและประสิทธิภาพของระบบตลาดทุน เพื่อพัฒนาตลาดทุนไทยได้อย่างเต็มที่ สู่การพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน” นายกฯ ระบุ
ทั้งนี้ปัจจัยพื้นฐานของตลาดทุนไทย มีความแข็งแกร่งในระยะยาวและมีความยืดหยุ่นสูง ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหุ้นซึ่งติดอันดับที่ 27 ของโลกและมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน อีกทั้งมีมูลค่าเสนอขายหุ้น IPO สะสมย้อนหลังสูงที่สุดในอาเซียน เช่นเดียวกับสภาพคล่องนับตั้งแต่ปี 2555
นอกจากนี้ รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทั้งด้านดิจิทัลและด้านความยั่งยืน ซึ่งส่งผลกระทบควบคู่กันต่อทั้งระบบตลาดทุน เศรษฐกิจโดยรวม และความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่เศรษกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (ESG economy)
นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยตลาดทุนไทยมีบทบาทสำคัญช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ทั้งการยกระดับช่องทางระดมทุนและการบริการให้กับภาคธุรกิจและประชาชน รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้รับนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวนี้ โดยยกระดับพร้อมปรับโครงสร้างองค์กร เน้นแผนยุทธศาสตร์ และเพิ่มส่วนงานในสายนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยี ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจ
อีกทั้งรัฐบาลมุ่งส่งเสริมพัฒนาการด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจและการลงทุนของประชาชน จึงได้เห็นชอบในหลักการที่ลดอุปสรรคของการส่งเสริมระบบนิเวศ (ecosystem) ของสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น ความเหลื่อมล้ำของภาษี ส่งผลให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเท่าเทียมกัน ลดภาระแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในฝั่งของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ออกและเสนอขาย (issuer) รวมทั้งผู้ลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
อีกทั้งเป็นการสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการระดมทุนผ่าน investment token ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
นอกจากนี้รัฐบาลยังมี 3 แนวทางสำคัญ ที่จะเสริมสร้างจุดแข็งของตลาดทุนไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความผันผวน อีกทั้งส่งเสริมโอกาสการเติบโต(prospect) และเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของทั้งตลาดทุนไทยและเศรษฐกิจโดยรวมในระยะข้างหน้าต่อไป ดังนี้
1.การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ผลักดันให้ตลาดทุนไทยเป็น investment destination ของภูมิภาค รัฐบาลมุ่งเน้นเปิดตลาดการค้าระหว่างประเทศ เขตเศรษฐกิจ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเร่งเจรจาและขยาย Free Trade Agreement (FTA) เปิดตลาดใหม่ ๆ และสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศทางยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
รวมทั้ง ส่งเสริมความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยให้กับผู้ลงทุนและธุรกิจต่างประเทศ (ease of doing business) นอกจากนี้ จะดำเนินการนำเสนอข้อมูลการลงทุนของตลาดหุ้นไทย หรือ การโรดโชว์เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่องด้วย
2.การมุ่งไปสู่ความยั่งยืน รัฐบาลจะดำเนินการและสนับสนุนทุกภาคส่วนเพื่อเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs และเป้าหมายของประเทศไทยด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
โดยภายในปี 2608 จะดำเนินการส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยพัฒนากลไกให้ภาคธุรกิจมีเงินทุนเพียงพอในการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยี และเงินทุนเพื่อปรับตัวให้พร้อมรับมือกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม
พร้อมผลักดัน นโยบายการกระตุ้นตลาดตราสารหนี้สีเขียว การระดมทุนเพื่อสนับสนุน SDGs และนโยบายการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล กลไกการเงินสีเขียว
โดยตั้งเป้าการออกและเสนอขายตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อให้องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินนโยบายที่สร้างความยั่งยืน และการจัดทำ Thailand Green Taxonomy ส่งเสริมการเติบโตและการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
3.การสนับสนุนการระดมทุนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัลและ SMEs / Startups เพื่อให้มีเงินเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ เติบโตและขยายต่อไปได้ในระดับโลก