นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปี 2566 รถยนต์ไฟฟ้า มีอัตราการเติบโตสูง โดยในเดือนพฤศจิกายน 2566 ไทยขายรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) 8,696 คัน เพิ่มขึ้น 875.98 และเมื่อดูยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 64,815 คัน เพิ่มขึ้น 722.32%
โดยในปี 2567 เชื่อว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในไทย จะเพิ่มขึ้นทะลุ 100,000 คัน สัดส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 9-10% เป็น 15% ของยอดจำหน่ายรถยนต์ทั้งหมด โดยมีปัจจัยบวกมาจากความต้องการของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาไม่แพง เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากนโยบาย EV 3.5 ของภาครัฐ ทำให้สัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในไทย
ทิศทางยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อดีลเลอร์รถยนต์สันดาปอย่างแน่นอน เพราะหากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามี 1 แสนคัน หมายความว่า ยอดขายรถยนต์สันดาปก็จะหายไปราว 1 แสนคัน ดีลเลอร์ต่าง ๆ จึงต้องมีการปรับตัวพอสมควร ทำให้หลายรายต้องลงทุนเปิดโชว์รูมรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว
ทั้งนี้ ยืนยัน การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ ไม่ส่งผลให้ดีลเลอร์ถึงขั้นต้องปิดกิจการ แม้สัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 15% แต่ก็ยังมีความต้องการรถยนต์สันดาปอยู่อีก 75% ของตลาด ผู้ประกอบการก็จะปรับยอดการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการ ก็จะไม่มีรถยนต์ค้างสต๊อก
ประกอบกับไทยยังคงเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ของภูมิภาค ส่งออกรถยนต์สันดาปติด 1 ใน 10 ของโลก จึงไม่น่าเป็นกังวล เพราะมีหลายประเทศที่ยังคงไม่ได้ปรับตัวใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นลูกค้ารายสำคัญของไทย ขณะเดียวกัน จากมาตรการ EV 3.0 ทำให้ไทยก็จะกลายเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคเช่นกัน ยอดส่วนนี้ก็จะเข้ามาทดแทนได้ ไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม
สำหรับกรณีที่ก่อนหน้านี้ มีดีลเลอร์รถยนต์หลายราย เรียกร้องให้ภาครัฐ ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเดิมด้วยนั้น นายสุรพงษ์ มองว่า ถ้าภาครัฐจะออกมาตรการใด ๆ ควรสนับสนุนรถยนต์ไฮบริด เพราะมีประชาชนจำนวนไม่น้อย ที่ยังไม่มั่นใจที่จะเปลี่ยนมาใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากกังวลเรื่องสถานีชาร์จว่าจะเพียงพอหรือไม่ หากต้องการเดินทางระยะไกล
“ปี 2566 ยอดขายรถยนต์ไฮบริด สูงกว่ารถยนต์ไฟฟ้าพอสมควร แสดงให้เห็นความต้องการที่ยังสูงอยู่ หากรัฐออกมาตรการในส่วนนี้ก็จะสามารถช่วยเหลือดีลเลอร์ได้”