“เศรษฐา” ฝ่ากับดัก ศก. ความท้าทายซัดกระหน่ำ คาร์บอน-หนี้-ดัน BCG-สู้เอลนีโญ

03 ม.ค. 2567 | 05:44 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ม.ค. 2567 | 08:46 น.

บิ๊กเอกชน-นักวิชาการติวเข้มรัฐรับมือปัจจัยเสี่ยงปี 67 หนี้ใน-นอกระบบท่วมจี้เร่งแก้ ดันต่อ BCG เตือนมาตรการสิ่งแวดล้อม ลดปล่อยคาร์บอนคู่ค้ามาแรง หวั่นเอลนีโญทุบส่งออกสินค้าเกษตรวูบ 9 แสนล้าน ท่องเที่ยวลุ้น 35 ล้านคน อสังหาฯ ยันยังไม่ถึงเวลาขยายเปิดโครงการใหม่

ปี 2567 ที่มาถึงเป็นอีกหนึ่งปีแห่งความท้าทายของประเทศไทยที่ทุกคนคาดหวัง เศรษฐกิจจะกลับมาโต การส่งออกจะกลับมาขยายตัวเป็นบวก ภาคการท่องเที่ยว ภาคการลงทุนจะกลับมาคึกคัก เม็ดเงินงบประมาณของรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจสามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี กลับมาฟื้นตัว ประชาชนคนไทยได้อยู่ดีกินดี อย่างไรก็ดีบนความคาดหวังยังมีความท้าทายจากปัจจัยทั้งในและนอกประเทศรออยู่ข้างหน้า

อัดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หอการค้าฯคาดเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวได้ 2.8-3.3% โดยมองความท้าทายของภาคธุรกิจและประชาชนใน 4 เรื่อง พร้อมข้อเสนอแนะ ได้แก่ 1.ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่วัดกันที่ความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศ วันนี้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้ากว่าศักยภาพ ปัจจัยสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ ความสามารถของ SMEs ไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการจับจ่ายที่ชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่าน มาดังนั้นจำเป็นที่รัฐบาลต้องอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยให้ธุรกิจ SMEs มีรายได้และกลับมาแข่งขันได้ และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างเป็นระบบ

ขณะที่นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็ถือเป็นความท้าทายในการปรับตัวของภาคธุรกิจ โดยหอการค้าฯ เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับกลุ่มแรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และค่าครองชีพในปัจจุบัน ภายใต้กลไกการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคีในแต่ละจังหวัด เพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้ประกอบการ รวมทั้งเป็นผลดีต่อการจ้างงานต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจ

2.การแก้หนี้ทั้งในและนอกระบบที่รัฐบาลให้สำคัญต้องทำอย่างจริงจัง เพราะท้ายที่สุดจะเป็นตัวฉุดรั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หอการค้าฯ เห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการเสริมควบคู่กับการแก้หนี้ให้กับประชาชนเพื่อไม่ให้กลับไปเป็นหนี้เพิ่มเติมอีก

3.ต่อยอดเศรษฐกิจ BCG ไปสู่มาตรฐานการค้าของโลกยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งวันนี้เอกชนมีความยินดีที่รัฐบาล จริงจังกับการผลักดันอุตสาหกรรม EV ให้เข้ามาลงทุนและใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกไปทั่วโลก นอกจากจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนแล้ว ยังช่วยให้อุตสาหกรรมและธุรกิจในซัพพลายเชนของรถอีวีในประเทศ เติบโตและทยอยปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานใหม่ ขณะที่ธุรกิจสาขาอื่น ๆ แม้จะมีการปรับตัวได้ไม่มากนัก แต่รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งสร้างแรงจูงใจให้เกิดการตื่นตัวในทุกภาคส่วนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนทำให้ธุรกิจไทยรอดพ้นจาก มาตรการกีดกันทางการค้าที่ให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม

4.การแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาค่าพลังงานของประเทศให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีเสถียรภาพ วันนี้รัฐบาลมีนโยบายระยะสั้นเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนและภาคธุรกิจ แต่ในระยะยาวหอการค้าฯ เห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้อง เร่งศึกษาการปรับโครงสร้างราคาพลังงานของประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแข่งขันได้ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน และลดต้นทุนผู้ประกอบการในประเทศได้ในระยะยาว ขณะเดียวกันจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติที่จะขยายฐานการผลิตมาในประเทศในอนาคต

“เศรษฐา” ฝ่ากับดัก ศก. ความท้าทายซัดกระหน่ำ คาร์บอน-หนี้-ดัน BCG-สู้เอลนีโญ

“3 ชะลอ-2 สงคราม”

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจัยลบภายในซึ่งเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการไทย คือ 1.ต้นทุนการผลิตสูงเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะค่าจ้าง ค่าไฟฟ้า และราคาน้ำมันดีเซล 2.สินค้าไทย อยู่ในตำแหน่งที่มีศักยภาพการแข่งขันต่ำ เมื่อเทียบกับเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

3.การเปิดประเทศมากเกินไปทำให้โรงงานจากประเทศจีน เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย ผลผลิต SMEs ไทยแข่งไม่ได้ ผู้ประกอบการจำนวนมากต้องปิดกิจการ 4. การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไทยต่ำกว่าสิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ทำให้การผลิตสินค้าที่ต้องร่วมกับต่างประเทศที่ต้องใช้เทคโนโลยีสู้ไม่ได้ในตลาดโลก 5.ภัยแล้ง หากปี 2567 ปริมาณน้ำฝนเหลือเพียง 1,300 มิลลิเมตร การส่งออกสินค้าเกษตรไทยจะลดลง 9 แสนล้านบาท

ขณะที่ภาคการส่งออกของไทยปี 2567 ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว จาก “3 ชะลอ และ 2 สงคราม” คือ เศรษฐกิจโลกชะลอ, การค้าโลกชะลอตัวลง, เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และ 2 สงครามคือ อิสราเอล-ฮามาส และรัสเซีย-ยูเครน นอกจากนี้มาตรการทางการค้าที่มาแรงในปีนี้ คือประเทศคู่ค้าจะมีการกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม การปล่อยคาร์บอน สุขภาพ และมาตรฐานเข้มขึ้นในการส่งออกไปประเทศพัฒนาแล้ว ยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น

“ในเรื่องมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม การปล่อยคาร์บอน ที่คู่ค้าจะนำมาบังคับใช้ เพื่อให้ไทยให้ปรับตัวและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันมีข้อเสนอแนะคือ 1.นำร่องต้นแบบสินค้าเกษตรและ อุตสาหกรรมที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอน 2.สร้างกลุ่มต้นแบบการทำแพ็กเกจจิ้ง จากของเหลือใช้ ตามแนว Zero Waste และ 3.สร้างต้นแบบธุรกิจ Upcycling นำของเหลือมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่”

มองด้านบวกอานิสงส์เอลนีโญ

ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่วว่า ปัจจัยที่เป็นความท้าทายด้านสินค้าเกษตรและอาหารของไทยและประเทศคู่แข่ง คือ ด้านสภาพอากาศ และปริมาณน้ำในปี 2567 ที่อาจส่งผลต่อปริมาณการเพาะปลูก โดยหลายประเทศมีการงดการส่งสินค้าโดยเฉพาะประเทศที่ส่งออกอาหารคู่แข่งกับไทยที่เริ่มปรับนโยบายลดการส่งออกสินค้าบางชนิด เช่น ข้าว และน้ำมันพืช เช่น อินโดนีเซียเริ่มมีการขาดแคลนข้าว หรือ อินเดียที่มีมาตรการห้ามการส่งออกข้าวบางกลุ่ม

การออกมาตรการดังกล่าวเป็นการให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านอาหารส่งผลให้สินค้าส่งออกไทยได้รับประโยชน์ จากความต้องการและราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ หากไทยมีการบริหารจัดการน้ำ และรักษาตลาดและขยายตลาดไว้ได้ รวมถึงมีการเจรจาการค้าเสรี (FTA)และมีการส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหาร ปัจจัยเหล่านี้จะสามารถเป็นโอกาสให้แก่สินค้าอาหารของไทยได้ อาจเป็นอานิสงส์ทางบวกต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทยให้ปรับอันดับขึ้นได้อีก (จากปี 2566 ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับ 12 ของโลก)

อสังหาฯไร้โครงการใหม่

ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ในปี 2566 ดีเวลลอปเปอร์ มองว่าเป็นปีที่ยากลำบากที่สุด อย่างไรก็ตามปี 2567 มองว่าแม้สถานการณ์จะดีกว่าปีก่อนแต่ยังต้องระมัดระวัง

นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกกิตติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ปี 2566 ถือเป็นปีที่แย่ที่สุด เพราะดอกเบี้ยขึ้น น้ำมันแพง ส่วนปีนี้คาดจะดีขึ้น แต่จะดีเป็นรายภาคธุรกิจไม่ใช่ทั้งหมด ที่ดีจะเป็นเกี่ยวกับฟิวเจอร์เทรนด์ เกี่ยวกับนวัตกรรม เทคโนโลยี ส่วนธุรกิจที่ใช้แรงงานมากต้นทุนสูง สู้ไม่ได้คือต้องล้มตาย

“แม้เศรษฐกิจปีนี้คาดว่าจะดีขึ้น แต่มีความท้าทายอยู่มาก ดังนั้นจึงยังไม่ถึงเวลาขยายโครงการใหม่ แต่จะเน้นระบายสต๊อกให้เหลือน้อยลงมากกว่า เพราะไม่แน่ชัดว่าจะมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นอีกหรือไม่ เช่น สงคราม, โรคระบาด, ภัยธรรมชาติ โดยคาดการณ์ ปี 2567 ยอดโอนกรรมสิทธิ์ จะโต 5-10% เมื่อเทียบกับปี2566 ที่มียอดโอนกรรมสิทธิ์ที่ 9 หมื่นล้านบาท ถึง 1 ล้านล้านบาท”

นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สะท้อนความท้าทายในปี 2567 ต้องย้ำว่าธุรกิจอสังหาฯน่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2566 ดังนั้น การขยายโครงการใหม่ต้องระวัง ที่ต้องทำคือการระบายสต๊อกที่มีให้ลดลงมากที่สุด ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องมีมาตรการออกมาช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ

นายสุนทร สถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาพร เอสเตท จำกัด กล่าวว่า ปี 2566 เป็นปีที่เหนื่อยของผู้ประกอบการทุกด้าน ทั้งแนวราบแนวสูง จากเป็นปีที่มีความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้ทุกราย เร่งระบายสินค้าและออกแคมเปญ อย่างไรก็ตามปี 2567 น่าจะทรงตัว ปัจจัยบวกคือ ต้นทุนเงินเฟ้อไม่มาก เป็นข้อดีของผู้ซื้อ อัตราดอกเบี้ยเริ่มนิ่ง ปัจจัยเสี่ยงปี 2567 ไม่น่าจะมีอะไร เพราะการเมืองค่อนข้างนิ่ง ส่วนสงครามมองว่ายังไกลตัวเกินไป ส่วนต้นทุนที่จะปรับตัวสูงขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรง ผู้ประกอบการน่าจะปรับตัวกันได้ ส่วนเงินเฟ้อที่มาจากน้ำมันไม่รุนแรงแล้ว ดังนั้นราคาวัสดุก่อสร้างไม่ใช่ปัญหาใหญ่

ดันต่างชาติเที่ยวไทย 35 ล้านคน  

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในปี 2567 รัฐบาลตั้งเป้าหมายการขับเคลื่อนรายได้การท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.5 ล้านล้านบาท และรายได้จากนักท่องเที่ยวไทย 1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นการตั้งเป้าที่ท้าทาย

สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล

โดยตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย 35 ล้านคน และการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ที่จะมีผู้เยี่ยมเยือนไม่น้อยกว่า 200 ล้านคน-ครั้ง การท่องเที่ยวในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2566 ซึ่งมีเทรนด์การท่องเที่ยวไทยที่ดี ทั้งจากการที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)เปิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ ๆ การจัดเฟสติวัลต่าง ๆ รวมถึงกิจกรรมกีฬานานาชาติ ที่ดึงคนเข้ามาท่องเที่ยวได้ต่อเนื่อง

ส่วนในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเที่ยวไทยแล้ว 28 ล้านคน สร้างรายได้จากตลาดต่างชาติ 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากมีการเดินทางเข้ามาสูงขึ้นต่อเนื่องช่วงไฮซีซันนี้

 เศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวฟื้นตัว

นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าภาวะเศรษฐกิจไทย ปี 2567 ยังคงเติบโตต่อเนื่อง จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้จะโตถึง 3.2% และอาจถึง 3.8% ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศ

โดยเฉพาะในประเทศไทย ยังคงมีแนวโน้มที่สดใสในปี 2567 จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการเดินทางระหว่างประเทศ สายการบินมีการเพิ่มเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเครื่องบินในปี 2567 แซงหน้าช่วงก่อนโควิดในปี 2562 อีกด้วย

ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์

การท่องเที่ยวในยุโรป ซึ่งไมเนอร์ โฮเทลส์ มีโรงแรมมากกว่าครึ่งในภูมิภาคนี้ จะฟื้นตัวกลับมาเท่าระดับก่อนโควิด ปี 2562 ภายในปี 2567 จากการคาดการณ์ของคณะกรรมการท่องเที่ยวยุโรป (ETC) ส่วนการท่องเที่ยวในไทย ก็น่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเพิ่มขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวจากตลาดใหม่ๆ ด้วย จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เที่ยวต่างประเทศ อาจจะกลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด ในกลางปี2567นี้ จากการคาดการณ์ของทริปดอทคอม

แต่อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยจะยังคงได้รับผลกระทบทางอ้อมจากความท้าทายของปัจจัยภายนอก ได้แก่

1.ภาวะเงินเฟ้อเริ่มมีการชะลอตัวลงมา หลังจากที่ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะลดลงมาแล้ว ภาวะเงินเฟ้อของโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง อาจจะกระทบความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

2.อัตราดอกเบี้ยที่สูง นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดว่าธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ จะเริ่มหยุดการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเร็ว ๆ นี้ แต่ก็ยังคงเป็นอัตราที่สูงอยู่เพราะยังไม่ได้มีการปรับลด คาดว่าจะเริ่มปรับลดกลางปีหรือครึ่งหลังของปีนี้

 3.ปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ กับวิกฤตพลังงานในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน รวมถึงวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีน ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจีนอยู่ในระดับต่ำ เศรษฐกิจโตต่ำกว่าที่คาด ซึ่งกระทบกำลังซื้อของจีน รวมถึงการท่องเที่ยวนอกประเทศด้วย

ส่วนเหตุการณ์ความไม่สงบไม่น่าส่งผลกระทบทางตรงผ่านการค้าต่อเศรษฐกิจไทย เพราะอิสราเอลไม่ได้เป็นคู่ค้าหลัก ผลกระทบค่อนข้างจำกัดตั้งบนสมมติฐานที่ว่าความขัดแย้งไม่ขยายวงกว้าง แต่ผลกระทบทางอ้อม ทำให้ ราคาน้ำมันที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีก รวมถึงราคาสินค้าที่จะปรับตัวสูงขึ้น ก่อปัญหาเงินเฟ้อ แต่ที่ผ่านมาผลกระทบยังจำกัด และภาครัฐยังมีมาตรการควบคุมราคาอยู่

หรือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบด้านพลังงานของยุโรปที่ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อต่อโลกเริ่มคลี่คลาย แต่หากสงครามตะวันออกกลางบานปลาย มีประเทศอื่นร่วมด้วย ก็อาจจะกลับมาส่งผลต่อเงินเฟ้อ และการขึ้นดอกเบี้ยอีก

 อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยจะยังคงได้รับผลกระทบทางอ้อมจากความท้าทายของปัจจัยภายนอก เช่น ภาวะเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน อัตราดอกเบี้ย และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ส่วนเศรษฐกิจทั่วโลกยังคงเติบโตแต่อาจจะชะลอตัว โดยแนวโน้มครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้น หากเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยลดลง รวมถึงหากปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศคลี่คลาย

ดังนั้นเพื่อรับมือกับปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นไมเนอร์ฯจะเน้น 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 
     1.เพิ่มรายได้ ผ่านช่องทางและกลยุทธ์ต่างๆ เช่นไมเนอร์ โฮเทลส์ จะเพิ่มลูกค้าใหม่ เจาะตลาดไมซ์ ไมเนอร์ ฟู้ด จะขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง เพิ่มชนิดสินค้าและคิดค้นเมนูใหม่ๆ , เพิ่มการใช้จ่ายต่อบิล 
     2. หาวิธีปรับอัตราการทำกำไรให้สูงขึ้นด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพของการดำเนินงาน ทั้งที่โรงแรม ร้านอาหาร และสำนักงานของเรา การควบคุมค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบอาหาร ค่าแรง ค่าเช่า 
    3. พยายามลดสัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น และสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ เร่งจ่ายหนี้ มีการจ่ายล่วงหน้าโดยเฉพาะหนี้ที่ดอกเบี้ยสูง ซึ่งตอนนี้เรามีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ที่ 1.05 เท่า ซึ่งต่ำกว่าเพดานนโยบายที่ตั้งไว้ และต่ำกว่าเงื่อนไขข้อกำหนดสิทธิกับเจ้าหนี้เป็นอย่างมาก

แนะมุ่งความยั่งยืนจริงจัง

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทุกคนต้องใส่ใจและเดินหน้าลงมือทำเรื่อง Net Zero กันอย่างจริงจัง ซึ่งจะเห็นได้ว่ากระแส Green Business ไม่ใช่แค่การรณรงค์สร้างการรับรู้แล้ว แต่ปัจจุบันถูกนำมาปรับใช้กับนโยบายทั้งของภาครัฐและภาคธุรกิจกันมาแพร่หลายมากขึ้น และในขั้นต่อไปจะเข้าสู่การบังคับใช้อย่างจริงจัง และจะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจโดยตรง ซึ่งในอนาคตอาจได้เห็นการบังคับใช้และการลงโทษธุรกิจที่ไม่ปรับตัวให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เช่น การต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นหากไม่ Net Zero, การไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ หรือการไม่สามารถนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ ถ้าไม่มี Emissions Gap Report เป็นต้น

นอกจากนี้มีแนวคิดในการดำเนินธุรกิจยุคใหม่อย่าง “ESG” จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อโลกการประกอบธุรกิจ ซึ่งแนวคิด ESG นี้จะกลายเป็นเหมือนหลักปรัชญาใหม่ในการบริหารองค์กรอย่างยั่งยืนที่ทั้งภาครัฐและนักลงทุนใช้พิจารณาประกอบการลงทุนและดำเนินธุรกิจ

“การเข้ามาของโลกธุรกิจแห่งความยั่งยืน ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะต้องปรับตัวเท่านั้น แต่บริษัทขนาดเล็กเองก็จำเป็นต้องขยับด้วยเช่นกัน เพราะมีโอกาสที่จะโดนผลกระทบจากกำแพงภาษีนำเข้าส่งออกหรือแบนไม่ให้นำเข้าประเทศได้ รวมถึงต่อไปอาจมีกฎเกณฑ์บังคับต่อบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ให้พิจารณาไม่เลือกคู่ค้าบริษัทขนาดเล็กที่ไม่ดำเนินธุรกิจที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งเป็นมาตรการบังคับให้ธุรกิจต้องปรับตัวกันทั้ง Supply Chain ในที่สุด”

สภาพคล่องฉุด ศก.ซึมยาว

ด้าน นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY กล่าวว่า ปัญหาที่เป็นความท้าทายปี 2567 คือเรื่องของสภาพคล่อง ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ชะลอตัวไปอีกหลายปี โดยปีนี้จะเริ่มเห็นบริษัททั้งเล็ก กลาง ใหญ่ ในตลาดหลักทรัพย์ ที่ออกหุ้นกู้ ผิดรับชำระหนี้ และปิดกิจการไป ขณะที่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ ภาคการท่องเที่ยวก็ไม่ฟื้นตัวตามเป้าหมาย ส่วนภาคผู้บริโภคนั้นกำลังซื้อไม่มี มองว่าสภาพจะเหมือนกับวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 แต่สิ่งที่แตกต่างคือภาคการธนาคารของไทยมีความแข็งแกร่ง ต่างจากปี 2540

เศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ

นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC กล่าวว่า ในภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางและอ่อนแอ การให้บริการทางการแพทย์เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งต้องให้ผู้รับบริการเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

ข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนธุรกิจโดยมีนโยบายด้านการสาธารณสุขเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน เพื่อกระจายการเข้าถึงบริการสาธารณสุข โดยดึงเอาศักยภาพของภาคเอกชนมาร่วมขับเคลื่อนเพื่อกระจายการเข้าถึงสาธารณสุขเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ PPP หรือการเป็นหน่วยบริการร่วมดูแลผู้ป่วยตามสิทธิการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพ หรือสิทธิ์การรักษาอื่น ๆ โดยเฉพาะในโรคยากซับซ้อนที่เป็นที่ขาดแคลนในต่างจังหวัดอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยอาจพิจารณาจังหวัดเมืองรองที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าด้านการลงทุนด้านการแพทย์ขั้นสูง และเป็นการกระจายการเข้าถึงการสาธารณสุขร่วมด้วย

ห่วงนโยบายรัฐไม่แน่นอน

ด้าน นายธเนศร์ บินอาซัน รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มองสภาวะเศรษฐกิจปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตขึ้น 4% เนื่องจากเศรษฐกิจพ้นช่วงโควิดมาแล้ว เชื่อว่าผู้บริโภคจะกลับมาใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่เห็นได้ชัด คือเรื่องนโยบายของรัฐบาลล่าสุดที่ยังไม่แน่นอน ว่าจะทำอะไรได้บ้าง ถ้านโยบายแน่นอนก็คิดว่า เศรษฐกิจน่าจะเคลื่อนตัวได้อย่างมั่นคง ความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลใหม่ ที่ต้องให้เวลาในการทำงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน หรือต่างประเทศ เพื่อให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

“อยากให้ทางรัฐบาลมีนโยบายในการสนับสนุนประชาชนที่แน่นอน เช่น เรื่องการจ่ายเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ถ้าสามารถยืนยันในตรงนี้ได้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก ซึ่งไฮเออร์ได้เตรียมแผนรับมือกับความเสี่ยงนี้ ด้วยการทำโฆษณาทางทีวี และสื่อประชาสัมพันธ์ภายนอก เพื่อสร้างการตระหนักรับรู้ของสินค้า อีกทั้งยังมีกิจกรรมการตลาดที่ส่งเสริมการขาย เพื่อกระตุ้นการซื้อขายสินค้า”นายธเนศร์ กล่าว

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3954 วันที่ 4 -6 มกราคม พ.ศ. 2567