นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ,หอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเป็นระดับสูงสุดแล้ว
ทั้งนี้ มองว่าในระยะข้างหน้าดอกเบี้ยควรปรับทิศทางทางให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่มีแนวโน้มลดลงในปีนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่มีมากขึ้นจากทั้งในและนอกประเทศ ขณะที่เงินเฟ้อมีความผันผวนโดยมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องในกรอบ 0.7-1.2%
สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลดภาระต้นทุนทางการเงินให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันยังมียอดภาระหนี้ที่สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลืออีกกว่า 3.4 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 6.1 ล้านบัญชี
และตั้งแต่สถานการณ์โควิดมีต้นทุนทางเครดิตที่เกิดขึ้นในระบบธนาคารพาณิชย์มูลค่ารวมกว่า 6 แสนล้านบาท หรือราว 6% ของสินเชื่อ และสถาบันการเงินจะยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือลูกค้าตรงกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมมองว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ตามศักยภาพ แต่ศักยภาพมีแนวโน้มด้อยลง และยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงในรูปแบบ K-Shape โดยยังมีบางกลุ่มที่รายได้ไม่ฟื้นตัวและมีกำลังซื้ออ่อนแอ จึงจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในระดับกลางและระดับล่าง
ซึ่งรัฐบาลควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณโดยในระหว่างรองบประมาณปี 67 ภาคเอกชนเห็นว่าควรจัดทำมาตรการเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจ และควรมีการหารือกับรัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการนำงบประมาณลงทุนที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่แล้วเร่งใช้งานไปพลางก่อน เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ควรมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนสินเชื่อในการทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง โดยรัฐบาลสนับสนุนทุนจัดตั้งในระยะแรกก่อน แล้วนำดอกเบี้ยหรือได้เงินมาบริหารหมุนเวียนในกองทุนให้ตรงตามวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SMEs) โดยมีความยืดหยุ่นในการขอหลักประกันได้ สำหรับหนี้นอกระบบที่เป็นปัญหาของการเข้าถึงสินเชื่อ และเอาหนี้นอกระบบทางการค้าเข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้อง จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนสูงได้