KEY
POINTS
ที่ผ่านมากทม.ค้างชำระหนี้รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ แก่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กว่า 50,000 ล้านบาท จนเป็นเหตุให้เอกชนฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อทวงหนี้ หลังครบกำหนดชำระ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการศาลปกครองสูงสุดพิจารณา
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาภาระหนี้รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่กทม.จะขอชำระหนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวน 23,000 ล้านบาท เพราะครบกำหนดชำระแก่เอกชนนั้น ที่ผ่านมากทม.ได้เสนอเรื่องดังกล่าวถึงกระทรวงมหาดไทยพิจารณา ว่าจะให้กทม.ดำเนินการอย่างไร เบื้องต้นกระทรวงมหาดไทยได้ตอบกลับแล้วว่ากทม.สามารถดำเนินการได้ โดยให้นำกลับมาเสนอต่อสภากทม. ปัจจุบันกทม.อยู่ระหว่างส่งเรื่องมูลหนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) เสนอต่อสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณ คาดว่าจะบรรจุวาระการประชุมพิจารณาได้ภายในวันที่ 17 มกราคมนี้ ส่วนรายละเอียดต้องรอให้สภากทม.พิจารณาก่อน
“กทม.ยืนยันว่า ขณะนี้มีงบประมาณเพียงพอเพื่อชำระหนี้แก่เอกชน วงเงินประมาณ 23,000 ล้านบาท เนื่องจากในปีที่ผ่านมากทม.มีรายได้ที่ประเมินไว้มากกว่ารายจ่าย โดยปัจจุบันมีเงินสะสมจ่ายขาดประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งเราก็ไม่ได้ใช้อะไร เพราะมองว่าอาจจะมีภาระหนี้สินที่ต้องชำระ”
สำหรับหนี้รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวในปัจจุบัน ระหว่าง กทม.โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบ่งออกเป็น 1.ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ประมาณ 30,000 ล้านบาท 2.ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ประมาณ 23,000 ล้านบาท
ส่วนการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ในอัตรา 15 บาทตลอดสาย พบว่าปริมาณผู้โดยสารใช้บริการลดลงประมาณอยู่ที่ 200,000 คนต่อวัน คิดเป็น 20% จากเดิมที่มีผู้โดยสารในช่วงเปิดให้บริการฟรีอยู่ที่ 260,000 คนต่อวัน ขณะที่ช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ มีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการลดลงอยู่ที่ 70,000 คนต่อวัน จากเดิมที่มีผู้โดยสารในช่วงเปิดให้บริการฟรีอยู่ที่ 90,000 คนต่อวัน
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันกทม.มีแผนศึกษาโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน โดยเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ตามกฎหมายพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พ.ร.บ.ร่วมทุน PPP) ปี 2562 ขณะนี้กทม.อยู่ระหว่างของบประมาณปี 2568 เพื่อศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนของโครงการฯ โดยใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 1 ปี คาดว่าจะเสนอต่อสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) พิจารณาในรอบนี้
“หากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาอนุมัติ เท่ากับว่าในปัจจุบันกทม.จะเหลือโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน เพียงเส้นทางเดียว เราเชื่อว่าการทำเครือข่ายโดยมี Single Owner ถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งจะทำให้การเกิดปัญหาระบบตั๋วรถไฟฟ้าน้อยลง”
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงบางหว้า - ตลิ่งชัน ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าโครงการประมาณ 14,804 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา กทม.ได้ศึกษาความคุ้มค่าทางการลงทุน พบว่าโครงการจะมีประชาชนมาใช้บริการประมาณ 35,000 คนเที่ยวต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่สูงนัก จึงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงบางหว้า - ตลิ่งชัน มีแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว (สายสีลม) ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า จากนั้นไปตามแนวเกาะกลางถนนราชพฤกษ์ มาสิ้นสุดบริเวณทางลาดลงของสะพานข้ามรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี ที่สถานีตลิ่งชัน