นั่งฟรีมานาน สำหรับรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ในที่สุด นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) ได้ประกาศ เก็บค่าโดยสารรับปีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ในราคา 15 บาท
ได้แก่ 1.เส้นทางส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตั้งแต่สถานีบางจาก-สถานีแบริ่ง รวมเส้นทางช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ตั้งแต่สถานีสำโรง-สถานีเคหะฯ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ตั้งแต่สถานีห้าแยกลาดพร้าว-สถานีคูคต
2.เส้นทางส่วนต่อขยายสายสีลม ตั้งแต่สถานีโพธิ์นิมิตร-สถานีบางหว้า อัตราค่าโดยสารแต่ละประเภท มีดังนี้ 1.บัตรโดยสารเที่ยวเดียว 15 บาท 2.บัตรแรบบิทสำหรับบุคคลทั่วไป 15 บาท 3.บัตรแรบบิทสำหรับนักเรียนและนักศึกษา 10 บาท และ 4.บัตรแรบบิทสำหรับเด็ก 10 บาท
แต่รวมแล้วตลอดสายไม่เกิน 62 บาท มองว่าเป็นสัญญาณที่ดี และคนใช้บริการยอมรับได้ ปัจจุบันตลอดสายก็ราคาประมาณนี้อยู่แล้ว เมื่อเทียบกับการเดินทางที่สะดวก ลดมลพิษทางอากาศ ไม่ต้องผจญกับรถติดบนท้องถนน ถึงเป้าหมาย ตามเวลาที่กำหนด เพราะเป็นเส้นทางหลักคนใช้บริการหนาแน่น ที่ตัวเลขใช้บริการสุงสุด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เคยเปิดออกมากว่า 8 แสนคน ต่อเที่ยววัน โดยเฉพาะช่วงใจกลางเมือง และเมื่อมีส่วนต่อขยาย ช่วงไปคูคต วางเป้าไว้ที่ 1ล้านคนต่อเที่ยววันแต่มาเกิดโควิดเสียก่อนและเข้าใจปัจจุบันว่า น่าจะกลับมาใกล้เป้าที่วางไว้
สะท้อนจากผู้โดยสารที่มาจากฝั่งคูคต จังหวัดปทุมธานี เรียกว่ามาแน่นมาก แทบทุกขบวน มองว่าเก็บในอัตรานี้ มีคนใช้บริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ น่าจะมีความคุ้มทุนแต่จะให้นำมาใช้หนี้เอกชนคงไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ถือเป็นสัญญาณบวกที่ กทม. เองจะมีรายได้เข้ามา และค่อยๆ แบ่งจ่ายก็สามารถทำได้
ขณะที่กระทรวงคมนาคม ต้องการให้กทม.ดำเนินการระบบตั๋วร่วม เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการบูรณาการเดินทางข้ามสาย ตามมาตรการ 20 บาทตลอดเส้นทางของรัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคมในระยะต่อไป หลังนำร่อง สายสีแดง และ สายสีม่วง ไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีแน่หากรัฐบาลมีเงินมาสนับสนุน แต่ต้องเพิ่มขบวนและความถี่ เพราะรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางในระบบขนส่งมวลชนทางราง
โดยเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่สถานีสำโรง หากดำเนินมาตรการ 20 บาทตลอดเส้นทาง จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางในชีวิตประจำวัน และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนทางราง พร้อมรองรับการเดินทางจากชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมืองย่านธุรกิจได้ในอนาคตต่อไป และสุดท้ายรถไฟฟ้าสีชมพูก็สามารถเปิดทดลองต่อและจะจัดเก็บค่าโดยสารวันที่ 3 มกราคม ต่อจาก รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวนั่นเอง