เปิดวิสัยทัศน์ประธานกนอ.ปั้มลงทุนในประเทศ เพิ่มลงทุน ต่อ GDP 3 ล้านล้าน

21 ม.ค. 2567 | 13:00 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ม.ค. 2567 | 13:00 น.

เปิดวิสัยทัศน์ประธานบอร์ดกนอ.คนใหม่ ยุทธศักดิ์ สุภสร ปรับบทบาทการนิคมอุตสาหกรรมฯ เร่งดึงลงทุนในประเทศ ตั้งเป้าสนับสนุนสัดส่วนการลงทุน ต่อ GDP เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 27% ในปี 2569 กว่า 3.05 ล้านล้านบาท พร้อมประกาศให้ปี 2568 เป็นปีแห่งความยั่งยืนของการลงทุน

กนอ. เปิดเกมรุกเร่งรัดการลงทุนในประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปรับบทบาทใหม่ ตั้งเป้าสนับสนุนสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 27% ในปี 2569 จาก 2.6 ล้านล้านบาท เป็น 3.05 ล้านล้านบาท โฟกัสฟื้นการลงทุน เพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการ ลดบทบาทการกำกับดูแล เป็นผู้ส่งเสริม สร้างมั่นใจนักลงทุน พร้อมประกาศให้ปี 2568 เป็นปีแห่งความยั่งยืนของการลงทุน

ไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทาย เพื่อให้หลุดพ้นจากสภาวะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชน อยู่ในระดับต่ำกว่า 25 % ของ GDP มานานถึง 25 ปี ปัจจุบันมูลค่าการลงทุนที่ไม่รวมผลของเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาท

การขยายตัวการลงทุนในไทย

โดยไทยมีนิคมอุตสาหกรรม อยู่ 68 แห่ง และ 1 ท่าเรืออุตสาหกรรม แบ่งเป็นนิคมฯ กนอ. ดำเนินการเอง 15 แห่ง และร่วมดำเนินการ 53 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 190,150 ไร่ จำนวน 4,898 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 13.20 ล้านล้านบาท

นิคมอุตสาหกรรมในไทย

ดังนั้นการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จึงจะเร่งเพิ่มบทบาทเชิงรุก เพื่อฟื้นการลงทุน สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพื่อให้สัดส่วนการลงทุนต่อ GDP เพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 27% และในปี 2569 กนอ.ตั้งเป้ายอดขาย-เช่าที่ดิน นิคมอุตสาหกรรมในปี 2567 อยู่ที่ 3,000 ไร่

เปิดวิสัยทัศน์ประธานกนอ.ปั้มลงทุนในประเทศ เพิ่มลงทุน ต่อ GDP 3 ล้านล้าน

โดยเป็นพื้นที่ใน EEC 2,700 ไร่ และนอก EEC 300 ไร่) จากภาพรวมการดำเนินงานในปี 2566 ที่ขาย-เช่าพื้นที่ 6,096 ไร่ เพิ่มขึ้น 202% โดยเป็นพื้นที่ใน EEC 5,148 ไร่ และนอก EEC 948 ไร่ มูลค่าการลงทุนรวม 475,560 ล้านบาท (ก.ย. 2566)

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า กนอ.จะเพิ่มบทบาทในการเร่งรัดการลงทุน โดยตั้งเป้าหมายสนับสนุนการเพิ่มการลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สัดส่วนการลงทุนต่อ GDP เพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 27% ในปี 2569 โดยเพิ่มจาก 2.6 ล้านล้านบาท เป็น 3.05 ล้านล้านบาท

ยุุทธศักดิ์ สุภสร

ทำให้การลงทุนกลับมามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นำไปสู่การยกระดับ Potential Growth ให้สูงกว่า 3.5% ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเพิ่มการลงทุนในประเทศ

กนอ.จะปรับบทบาทในเชิงรุก โดยเน้น 4 เป้าหมาย ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่จะใช้ชื่อว่า WISH ได้แก่

  • W: Wealth of the Nation เป็นผู้สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศและความยั่งยืนของอุตสาหกรรม
  • I : Investment Enhancer เป็นผู้สร้างเสริมให้เกิดการลงทุน โดยทำการตลาดเชิงรุกในการชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและผู้ร่วมดำเนินการนิคมอุตสาหกรรม
  • S: Strengthen Industrial Competitiveness เป็นผู้เกื้อหนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและอุตสาหกรรม เปลี่ยนบทบาทจาก Regulator มาเป็น Facilitator ในการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นๆ กนอ.ต้องเป็น DNA ของผู้ประกอบการในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Empowering) ภารกิจไม่ได้จบแค่มาตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น หากแต่ต้องดูแลต่อเนื่อง (Caretaker) ให้มีผลประกอบการที่ดี กระตุ้นให้เกิดการขยายการลงทุนต่อไป
  • H: High-rated Organization เป็นผู้ดูแลที่ดี โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้เสีย เป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นและการเป็นที่ยอมรับ กนอ.ทั้งในประเทศและระดับสากล เน้นมิติคุณภาพการให้บริการแก่ภาคเอกชนผู้พัฒนานิคม/ผู้ประกอบการในนิคม/ชุมชนโดยรอบนิคม เป็นต้น

แนวทางการขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว จะเน้น 3 เรื่องหลัก ภายใต้แนวคิด ฟื้นการลงทุน หนุนผู้ประกอบการ สร้างความยั่งยืน ให้ภาคอุตสาหกรรมแข็งแกร่ง มีศักยภาพเพียงพอในการเติบโต พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ สภาพภูมิอากาศ และเทคโนโลยี ได้แก่

1.การฟื้นการลงทุน

โดยให้ความสำคัญตัวเลขการลงทุน จำนวนนิคมที่เปิดดำเนินการ จัดทำ Investment Outlook เพื่อติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจการลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่อง การผลักดันให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนของโลกและภูมิภาค นิคมอุตสาหกรรมต้องเป็น Brand ที่ดีของประเทศไทยด้านการลงทุน เพื่อให้ไทยเป็น Land of Infinite Prosperity and Opportunities

โดยต้องสื่อสารการตลาด ภายใต้แนวคิด NOW Thailand คือ New horizons of Investment พร้อมรับการลงทุนใหม่ๆ ทุกรูปแบบ, Opportunity Unlimited เปิดกว้างโอกาสทางธุรกิจอย่างไร้ข้อจำกัด และ Wealth-packing Districts เป็นเขตประกอบความมั่งคั่งของผู้ประกอบการและนักลงทุนที่ยั่งยืน

2.หนุนผู้ประกอบการ

เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยจัดให้มีบริการสิทธิประโยชน์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม การกำหนดค่าบริการระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกในอัตราที่เหมาะสมและเอื้อต่อการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการทุกขนาด รวมถึง SMEs เป็นต้น

รวมถึงการทำให้นิคมอุตสาหกรรมเป็นเขตประกอบความมั่งคั่งของผู้ประกอบการและนักลงทุน (Wealth-packing Districts) ในระยะยาว โดยต้องให้ความสำคัญในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ตั้งนิคม ไม่ว่าจะเป็น การจัดหาและพัฒนาที่ดินให้เพียงพอกับความต้องการของนักลงทุน เพื่อการจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม

ทั้งการดำเนินการเอง ร่วมทุน และร่วมดำเนินการ การบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอในต้นทุนที่เอื้อต่อการแข่งขันทางธุรกิจ การจัดการมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม การมีพลังงานและโครงข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมที่เอื้อต่อการประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม

3. การสร้างความยั่งยืน

การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ปรับเปลี่ยนและออกแบบธุรกิจยั่งยืนให้อยู่ในรูปแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และนวัตกรรม เช่นเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน/พลังงานสะอาดในระดับอุตสาหกรรม

กนอ.และผู้ประกอบการจะร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี 2608 เพื่อให้ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมประกาศให้ปี 2568 เป็นปีแห่งความยั่งยืนของการลงทุน