ผวาวิกฤตทะเลแดงลาม “ฮอร์มุซ” ทุบส่งออกไทย 1.3 ล้านล้าน-นํ้ามันพุ่งรอบใหม่

11 ม.ค. 2567 | 11:15 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2567 | 11:25 น.

นักวิชาการจับตาวิกฤตทะเลแดงขยายวง ลามกระทบค้าไทย-ยุโรป 9 แสนล้าน หลังอิหร่านเปิดหน้าชนมะกัน ห่วงลามช่องแคบฮอร์มุซ สะเทือนส่งออกไทยไปตะวันออกกลาง 4 แสนล้าน ผวาปิดช่องแคบดันราคานํ้ามันดิบพุ่ง 120-150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ความตึงเครียดในตะวันออกกลางยังคงเพิ่มดีกรีความร้อนแรงขึ้นทุกขณะ หลังกลุ่มฮูตีในเยเมนยังคงมุ่งเป้าโจมตีเรือบรรทุกสินค้าที่วิ่งผ่านทะเลแดง อ้างเพื่อกดดันอิสราเอลให้เลิกทำสงครามในฉนวนกาซาที่ส่งผลทำให้ชาวปาเลสไตน์ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวนมาก ล่าสุดอิหร่านส่งเรือรบติดขีปนาวุธไปยังทะเลแดงหลังกองทัพสหรัฐฯ โจมตีเรือกลุ่มฮูตีจมทะเลแดง 3 ลำ

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะวิกฤตในทะเลแดง และอาจลามช่องแคบฮอร์มุซ (ยังไม่เกิดขึ้น) จะมีผลกระทบใน 2 เรื่องสำคัญคือ การขนส่งสินค้าในทะเลแดง และราคานํ้ามันที่ขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซ

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ทะเลแดง เป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางเรือที่สั้นที่สุดจากเอเชียและอาเซียนไปยุโรป ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญคือ ช่องแคบบับเอลมันเดบ ที่ติดกับเยเมนทางทิศใต้ซึ่งควบคุมโดยกลุ่มทหารฮูตี กับทะเลแดง และคลองสุเอซ  (เชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง) ระยะทาง 2,314 กิโลเมตร โดยเส้นทางนี้มีมูลค่าการขนส่งสินค้าต่อปีคิดเป็นสัดส่วน 12% ของการส่งออกโลก  (มูลค่าการส่งออกโลกปี 2565 มีมูลค่า 25 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้เป็นการขนส่งทางเรือ 22 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)

“นั่นเท่ากับว่าการขนส่งสินค้าผ่านทะเลแดงมีมูลค่า 2-3 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี โดยมีเรือสินค้าวิ่งผ่านวันละ 50 ลำ เดือนละ 1,500 ลำ หรือปีละ 18,000 ลำ คิดเป็น 36% ของเรือทั้งหมดต่อปี (แต่ละปีเรือสินค้าแล่น 5 หมื่นลำ) ขณะที่เวลานี้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้น 100% ตัวอย่างจากท่าเรือเจ้อเจียงของจีนไปตะวันออกกลางและยุโรป เพิ่มจาก 2,000 ดอลลาร์เป็น 3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ คาดว่าน่าจะไปถึง 6,000 ดอลลาร์ต่อตู้ จากปกติสินค้าจากจีนผ่านทะเลแดงผ่านคลองสุเอซไปยุโรปใช้เวลา 30 วัน (จากสิงคโปร์ใช้เวลา 26 วัน) เพราะการที่เรือสินค้าต้องแล่นอ้อมไปตรงแหลมกู๊ดโฮป ในแอฟริกาใต้ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 14 วัน”

ผวาวิกฤตทะเลแดงลาม “ฮอร์มุซ” ทุบส่งออกไทย 1.3 ล้านล้าน-นํ้ามันพุ่งรอบใหม่

ในแต่ละปีสินค้าไทยส่งออกไปยุโรปประมาณ 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณปีละ 9 แสนล้านบาท ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้กระทบราคาสินค้าไทยไปยุโรปจะสูงขึ้นมากกว่า 100% และทำให้ถึงมือผู้บริโภคล่าช้ากว่ากำหนด

สำหรับช่องแคบฮอร์มุซ แม้เวลานี้ยังไม่มีวิกฤตเกิดขึ้น แต่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงมาก จากระเบิดพลีชีพ 2 ลูกในจังหวัด Kerman ทางตอนใต้ของอิหร่าน ทำให้คนอิหร่านเสียชีวิต เกือบ 100 คน “อะลี คอเมเนอี (Ali Khamenei)” ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ประกาศจะตอบโต้อย่างหนัก

“หากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซจะกระทบราคานํ้ามันโลก และการส่งออกสินค้าไทย เพราะช่องแคบฮอร์มุซ อยู่ระหว่างอิหร่านและโอมาน นํ้ามันดิบ ร้อยละ 40 ของตะวันออกกลางต้องผ่านช่องแคบนี้ หากปิดช่องแคบราคา นํ้ามันดิบโลก คาดว่าจะขึ้นไปอยู่ที่ 120-150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล”

ขณะที่สินค้าไทยไปตะวันออกกลางปีละ 12,000 ล้านดอลลาร์หรือ 4 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่สินค้าไทยจะไปลงท่าเรือ Jabel Ali ในดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แล้วกระจายไปทั่วตะวันออกกลาง ซึ่งต้องผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ดังนั้นต้องจับตาทั้ง 2 วิกฤตที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว

อนึ่ง ในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าไปสหภาพยุโรป(28 ประเทศ) มูลค่า 930,822.29 ล้านบาท (+17.60%) ช่วง 11 เดือนแรกปี 2566 ส่งออก 821,376.17 ล้านบาท (-3.52%) ส่วนการส่งออกของไทยไปตะวันออกกลาง (15 ประเทศ) ปี 2565 มีมูลค่า 382,201.39 ล้านบาท (+36.35%) และช่วง 11 เดือนแรกปี 2566 มีมูลค่า 352,072.86 ล้านบาท (+1.54%)