"ภูมิรัฐศาสตร์"เสี่ยง ส่งออกปีงูใหญ่โต 2% ลุ้นเหนื่อย

09 ม.ค. 2567 | 11:29 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2567 | 12:00 น.

ตัวเลขส่งออกไทย 11 เดือนแรกปี 2566 มีมูลค่า 261,935.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวหรือติดลบร้อยละ 1.5 ในรูปเงินบาทส่งออก 9.03 ล้านล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้การส่งออกที่มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) นี้ถือมีส่วนสำคัญที่ทำให้จีดีพีหรือเศรษฐกิจไทยช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 ยังเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 1.9

สรุปส่งออกไทยทั้งปี 2566 จะติดลบค่อนข้างแน่เพราะในปี 2565 ไทยส่งออกได้ 287,424.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ช่วง 11 เดือนแรกปี 2566 ส่งออกได้ 261,770.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากการส่งออกไทยจะสามารถทำได้ระดับเดียวกับในปี 2565 ในเดือนธันวาคม เดือนสุดท้ายของปี 2566 ต้องทำตัวเลขให้ได้ถึง 25,654 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เดือน ธ.ค. 65 ไทยส่งออกได้ 21,778 ล้านดอลลาร์) ดังนั้นโอกาสส่งออกไทยปี 2566 จะขยายตัวเป็นบวกเลิกคิดได้เลย

ที่น่าติดตามคือการส่งออกของไทยในปี 2567 หรือ ปีมะโรง-งูใหญ่จะเป็นอย่างไร จะกลับมาเป็นบวกได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งในเบื้องต้นจากการหารือของกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชน รวมถึงทูตพาณิชย์ไทยทั่วโลกคาดส่งออกไทยจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.99  หรือตัวเลขกลมๆ ที่ร้อยละ 2 ซึ่งสอดคล้องกับคาดการณ์ของภาคเอกชนโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดส่งออกไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ2 ถึง 3 ส่วนสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)หรือสภาผู้ส่งออก คาดจะขยายตัวได้ร้อยละ 1 ถึง 2

\"ภูมิรัฐศาสตร์\"เสี่ยง ส่งออกปีงูใหญ่โต 2% ลุ้นเหนื่อย

โดยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวแปรสำคัญคือเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว เฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่ที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยได้แก่ สหรัฐ ยุโรป ที่ยังชะลอตัวจากผลพวงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อล่วงเลยมาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่ยุติ ฉุดเศรษฐกิจโลกดำดิ่ง และยังชะลอตัวตามอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูง แม้เวลานี้จะลดลงบ้างแล้วก็ตาม อีกด้านหนึ่งส่งผลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของหลายประเทศที่ปรับขึ้นสูง เป็นภาระของประชาชน และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจ ทำให้มีกำลังซื้อและการบริโภคลดลง

ตามด้วยสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่ยังไม่ยุติ และเสี่ยงเข้าสู่เฟส 2 ที่กลายเป็นสงครามตัวแทนที่กลุ่มฮูตีในเยเมนที่เป็นพันธมิตรของกลุ่มฮามาส ได้ยิงขีปนาวุธโจมตีอิสราเอลเป็นระยะ มีการโจมตีเรือบรรทุกสินค้าในทะเลแดงที่เป็นเส้นทางหลักของสินค้าจากเอเชียไปยุโรป ทำให้หลายสายเดินเรือต้องเปลี่ยนเส้นทางไปอ้อมทางตอนใต้ของแอฟริกาใต้ ทำให้ต้องใช้เวลาขนส่งสินค้านานขึ้นกว่า 10 วัน ส่งผลต้นทุนการส่งออกสูงขึ้น

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคู่ของความขัดแย้งของโลกที่อาจปะทุกลายเป็นสงครามเล็ก-สงครามใหญ่ได้ ทั้งความขัดแย้งจีน-ไต้หวัน กรณีช่องแคบไต้หวัน ความขัดแย้งจีน-ฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้ ความขัดแย้งเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น ซึ่งกรณีหากเกิดขึ้นในทะเลจีนใต้จะกระทบไทยมากที่สุดเพราะบริเวณดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับเส้นทางการขนส่งทั้งด้านพลังงาน และวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งจะกระทบต่อซัพพลายเชนของภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องของไทยอาจต้องสะดุด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก

ส่วนจีนที่เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย (ส่งออก+นำเข้า) เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มชะลอตัวตามภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เศรษฐจีนในปีนี้อาจไม่โตตามที่คาดหวัง ตลาดตะวันออกกลางเสี่ยงกระทบจากสงครามอิสราเอลที่อาจจะขยายวงหรือยืดเยื้อ ดังนั้นการเร่งหาตลาดใหม่ การเร่งทำ FTA ในกรอบใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการเร่งปรับตัวกับมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมที่คู่ค้าประเทศพัฒนาแล้วจะนำมาบังคับใช้จึงต้องเร่งทำเสียแต่วันนี้ เพื่อหวังผลในวันหน้า สรุปส่งออกไทยปี 2567 ยังต้องลุ้นเหนื่อยกันแบบยาว ๆ