สรุป "มติบอร์ดเงินดิจิทัลวอลเล็ต" โฆษกรัฐบาล ยันมีคนบอกเศรษฐกิจทรุดจริง

16 ก.พ. 2567 | 03:06 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.พ. 2567 | 04:21 น.

"ชัย วัชรงค์ โฆษกรัฐบาล" สรุปผลประชุมบอร์ดเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เปิดโอกาสให้ทุกหน่วยงานแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับบางคนบอกเศรษฐกิจทรุดจริง พร้อมแนะรัฐบาลเร่งฉีดเงินเข้าระบบ กระตุ้นเศรษฐกิจ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานที่ประชุม ได้เปิดโอกาสให้ทุกหน่วยงานในที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยนายกรัฐมนตรีรับฟังและให้โอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ 

โดยได้กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีรับฟังทุกความคิดเห็นเพื่อต้องการให้นโยบายโครงการเติมเงิน ดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet มีข้อสรุปที่ดีที่สุด โปร่งใส เหมาะสม ได้ประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนมากที่สุด ซึ่งในที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

โดยหลายส่วนระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว ตัวเลขทางเศรษฐกิจชี้ว่ายังไม่กลับมาเติบโตเท่าช่วงก่อนโควิด หรือการฟื้นตัวของแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน ประชาชนมีรายจ่ายจากหนี้สินทำให้ไม่มีรายได้เหลือเพียงพอซื้อสินค้า ในมุมมองของผู้ขายไม่มีเม็ดเงินให้นำมาขยายกิจการ หรือพัฒนาสินค้า SME ไม่เติบโตเท่าที่ควร 

หากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะทำให้เกิดปัญหาระยะยาว การแก้ปัญหาในช่วงเวลาที่ผ่านมาด้วยการเยียวยา ไม่ใช่วิธีที่แก้ปัญหาได้ รัฐบาลจึงควรหาวิธีใหม่ โดยมีการระบุว่า เงินอัดฉีดเข้าระบบ จึงเปรียบเสมือนการช่วยชีวิตประชาชน เพื่อให้ต่อยอด ให้ฟื้นตัวในการดำรงชีวิต มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ นอกจากโครงการ Digital Wallet รัฐบาลยืนยันที่จะดำเนินนโยบายด้านอื่นๆ ควบคู่กันไป ทั้งการเพิ่มความสามารถประชาชน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ พักหนี้ ช่วยดูแลด้านหนี้ รวมทั้งแสวงหา สนับสนุนการลงทุนจากบริษัทต่างชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยว สนับสนุนการใช้จ่าย 

ขณะที่การพัฒนาด้านดิจิทัลหลายส่วนงานมองว่า จะเป็นโอกาสให้ไทยได้พัฒนาโครงสร้างการเงิน เสริมสร้างรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล โดยประชาชนไทยจะได้เรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยี ดิจิทัล ต่อยอดจากโครงสร้างเดิมที่มีมา ในที่ประชุมจึงได้มีมติให้ทุกส่วนศึกษา พิจารณา ถึงข้อห่วงกังวลที่เกิดขึ้น และนำมาหารือกันอีกครั้ง เพื่อให้การดำเนินนโยบายนี้เป็นไปอย่างได้ประโยชน์สูงสุด และโปร่งใสที่สุด

ทั้งนี้นายกฯ เน้นย้ำว่า ตลอดเวลาลงพื้นที่อย่างหนักเห็นแววตาประชาชน ต้องการช่วยเหลือให้วิถีชีวิตประชาชนดีขึ้น โดยอีกประเด็นสำคัญคือต้องการให้ดำเนินนโยบายนี้อย่างเปิดเผย โปร่งใส สง่างาม ไม่ต้องการให้มีข้อกังวลใจว่าเป็นนโยบายที่เอื้อไปสู่การทุจริต และต้องการให้เป็นโอกาสของไทยในการเรียนรู้ เท่าทันที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน