หนี้ “สายสีเขียว” 2.3 หมื่นล้าน “กทม.” จ่ายรวดเดียว ต้น เม.ย.นี้

15 มี.ค. 2567 | 02:58 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2567 | 03:03 น.

“กทม.” สั่งเคทีถกบีทีเอสซี หลังราชกิจจาฯออกประกาศให้กทม.จ่ายหนี้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว 2.3 หมื่นล้านบาท ดึงเงินสะสมจ่ายขาดเคลียร์หนี้รอบเดียวจบภายในต้นเดือน เม.ย.นี้ หวั่นดอกเบี้ยพุ่ง ฟากบีทีเอสซีลุ้นศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านพิพากษาชนะคดีฟ้องหนี้เดินรถรอบแรก

KEY

POINTS

  • “กทม.” สั่งเคทีถกบีทีเอสซี หลังราชกิจจาฯออกประกาศให้กทม.จ่ายหนี้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว 2.3 หมื่นล้านบาท
  • ดึงเงินสะสมจ่ายขาดเคลียร์หนี้รอบเดียวจบภายในต้นเดือน เม.ย.นี้ หวั่นดอกเบี้ยพุ่ง
  • ฟากบีทีเอสซีลุ้นศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านพิพากษาชนะคดีฟ้องหนี้เดินรถรอบแรก 

ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร (กทม.) ผิดนัดชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับบีทีเอสซีมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เอกชนเดินหน้าฟ้องร้องต่อศาลปกครอง 2 ครั้ง เนื่องจากแบกรับภาระหนี้อ่วมกว่า 50,000 ล้านบาท 

 

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  หลังจากราชกิจจานุเบกษา ประกาศข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 จำนวน 23,488,692,200 บาท เพื่อใช้จ่ายหนี้ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้รับสัมปทานและให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต  เบื้องต้นกทม.ได้มอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคม (จำกัด) หรือเคที หารือร่วมกับบีทีเอสซี เพื่อให้ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ก่อนนำมารายงานให้กทม.รับทราบ หลังจากนั้นจะดำเนินการทำเรื่องเบิกจ่ายเพื่อชำระหนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว วงเงิน  23,488 ล้านบาท 

 

“การชำระหนี้ให้แก่เอกชนในครั้งนี้เป็นการชำระหนี้รอบเดียว โดยไม่มีการแบ่งจ่ายชำระเป็นงวด ทั้งนี้กทม.ได้ตั้งเป้าเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณภายในต้นเดือนเมษายนนี้ เพราะหากชำระล่าช้าจะส่งผลให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น”

เมื่อวันที่  17 มกราคม ที่ผ่านมา สภากรุงเทพมหานคร ได้ลงมติ 44 เสียง เพื่ออนุมัติจ่ายเงินภายใน 2 เดือน ซึ่ง กทม.จะนำเงินสะสมจ่ายขาดที่มีอยู่ 40,000-50,000 ล้านบาท มาชำระ 1.หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 2,199 ล้านบาท (ดอกเบี้ยยังไม่เป็นปัจจุบัน) และ 2.หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 8,786 ล้านบาท (ดอกเบี้ยยังไม่เป็นปัจจุบัน)

 

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี  กล่าวว่า หลังราชกิจจาฯออกประกาศให้กทม.ชำระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวแก่บริษัทนั้น แปลว่ากทม.มีงบประมาณมาชำระให้บริษัทในส่วนนี้แล้ว ซึ่งมีกระบวนการที่จะต้องดำเนินการด้วย ปัจจุบันกทม.มีหนี้ค้างชำระกับบีทีเอสซี รวมกว่า 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ค่าจ้างเดินรถ ประมาณ 30,000 กว่าล้านบาท และหนี้ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) รวมกว่า 23,000 ล้านบาท รวมดอกเบี้ย 

 

“ที่ผ่านมากทม.ได้นัดหารือกับบริษัทถึงการชำระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวหลายครั้งแล้ว ซึ่งกทม.อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเร่งรัดการชำระเงินให้ทันตามกำหนด เท่าที่คุยกันคาดว่าจะชำระเงินให้บริษัทได้ภายในเดือนมีนาคมนี้หรืออย่างช้าสุดภายในต้นเดือนเมษายน 2567” 
 

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า กรณีที่ศาลปกครองตัดสินให้บริษัทชนะคดีในประเด็นที่กทม.ค้างชำระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น เรื่องนี้ตนยังไม่ทราบรายละเอียด คาดว่าจะเป็นการประชุมภายในของศาลฯ ปัจจุบันศาลฯยังไม่ได้นัดอ่านคำพิพากษา ขณะนี้มีอยู่ 1 คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด คือ คดีที่กทม.และเคที ค้างชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ครั้งที่ 1 วงเงิน 12,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาศาลฯชั้นต้นมีคำสั่งให้กทม.และเคทีชำระหนี้ฯแก่บริษัท แต่กทม.ได้ขอยื่นอุทธรณ์ไปก่อนหน้านี้ 

หนี้ “สายสีเขียว” 2.3 หมื่นล้าน “กทม.” จ่ายรวดเดียว ต้น เม.ย.นี้

“ส่วนการฟ้องร้องคดีที่กทม.และเคที ค้างชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวแก่บริษัท ครั้งที่ 2 ปัจจุบันศาลปกครองยังไม่ได้มีการพิจารณา คาดว่าน่าจะต้องรอพิจารณาคดีแรกให้แล้วเสร็จก่อน ที่ผ่านมาศาลฯได้ตัดสินและยื่นอุทธรณ์แล้ว ทำให้บริษัทยังไม่ได้ฟ้องร้องในครั้งที่ 3 เพราะเชื่อว่าจะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน”

 

สำหรับหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวของภาครัฐในปัจจุบันทั้งหมด รวมกว่า 100,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนขยายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่โอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปี 2561 รวม 69,105 ล้านบาท

 

2.ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ประมาณ 30,000 ล้านบาท 3.ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) รวมกว่า 23,000 ล้านบาท