อนุกมธ.แนะ เร่งจบเจรจา 3 ฝ่าย ลุยไฮสปีด ส่งเอกสารออกบัตร BOI ก่อน22 พ.ค.นี้   

16 มี.ค. 2567 | 01:03 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มี.ค. 2567 | 03:27 น.

 อนุกรรมาธิการ รับทราบปัญหา  ไฮสปีด 3 สนามบิน  ชี้ “รฟท. -อีอีซี- ซีพี "เจรจายังไม่ยุติ  เหตุ ส่งมอบหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) ล่าช้าแนะ  การเจรจาต้องจบ เอกชนควรส่งเอกสาร หลักฐานให้ BOI อนุมัติ ก่อน ช่วงขยายเวลานัดสุดท้ายวันที่ 22 พ.ค.นี้

 สถานการณ์โควิด ส่งผลกระทบ เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม3สนามบิน (ดอนเมือง -สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ที่มี  บริษัทเอเชีย เอรา วัน  เครือซีพี ฐานะคู่สัญญา ขอผ่อนผัน ภาครัฐเกี่ยวกับโครงสร้างการเงินให้เกิดสภาพคล่อง

ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างไปจ่ายไป แทนการก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเดินรถรัฐจึงจะเบิกจ่ายค่างวดให้ ขณะเดียวกันยังมีปัญหาที่ว่าหลังจากการใช้บริการแอร์พอร์ตลิงก์ มีปริมาณลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด ดังนั้นเอกชนมองว่าภาครัฐควรผ่อนผันให้เป็นเป็นรูปธรรมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวอยู่ระหว่างเจรจาระหว่างเอกชนและภาครัฐที่เกี่ยวข้อก่อนนำไปสู่การแก้ไขสัญญาสัมปทาน

 

 

      ทั้งนี้ จากรายงานของสำนักข่าวอิศราระบุว่า  ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน คณะที่ 1  ได้เชิญตัวแทนจากกระทรวงคมนาคมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และบจ.เอเชีย เอรา วัน เครือซีพี

 เพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  เมื่อวันที่14 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา นางสาวเบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน คณะที่ 1 เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า

ที่ประชุมได้รับทราบปัญหาที่เกี่ยวกับโครงการแล้ว โดยเฉพาะการส่งมอบหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ที่ยังไม่สามารถส่งมอบให้เอกชนได้ มาจากเงื่อนไขที่จะต้องให้เอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ก่อน ซึ่งได้รับการขยายเวลาถึงวันที่ 22 พ.ค. 2567 นี้ หากพ้นวันดังกล่าวไป อาจจะนำมาสู่การยกเลิกสัญญาโครงการได้

ส่วนหลังจากนั้นจะเปิดประมูลโครงการใหม่ หรือเชิญกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) , บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) , บมจ.ราชกรุ๊ป ผู้เสนอราคารองลงมาที่ 169,934 ล้านบาทมาเจรจาต่อรอง ทางรฟท.และอีอีซี ยังไม่ตอบคำถามนี้ แต่ขอกับคณะอนุกรรมาธิการว่าจะกลับไปหารือภายในก่อน และอาจจะมีการหารือกับอัยการสูงสุดด้วย ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการจะทำหนังสือส่งไป เพื่อขอรายละเอียดในการหารือดังกล่าว

โดยคณะอนุกรรมาธิการ มีข้อเสนอว่า หากสามารถส่งเอกสารและหลักฐานให้ BOI ได้ก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2567 ก็ควรทำ