หลังจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศนโยบายแก้หนี้ทั้งระบบอย่างจริงจัง โดยให้ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม หนึ่งในนั้นคือการแก้หนี้สมาชิกสหกรณ์ ที่มีมูลค่าสูงถึง 2 ล้านล้านบาท
จากนั้นกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ขอความร่วมมือให้สหกรณ์แต่ละแห่ง ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงให้ต่ำกว่า 4.75% ต่อปี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิก รวมถึงยืดระยะเวลาชำระหนี้ และให้คัดลูกหนี้ที่มีปัญหา กลุ่มที่หักเงินกู้สหกรณ์แล้ว มีเงินคงเหลือต่อเดือนต่ำกว่า 30% มาทำการแก้ปัญหาปรับโครงสร้างหนี้อย่างเร่งด่วน
ล่าสุดกรมส่งเสริมสหกรณ์ ขอความร่วมมือสหกรณ์ทุกแห่ง สมัครเข้าเป็นสมาชิกของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร เพื่อเป็นการแชร์ฐานข้อมูลกัน ป้องกันการเกิดหนี้ซ้ำซ้อน เพราะในปัจจุบัน ธนาคารแต่ละแห่ง เวลาตรวจสอบเครดิตของลูกค้า จะยังไม่เห็นข้อมูลหนี้สหกรณ์ ทำให้ลูกหนี้หลายราย กู้สหกรณ์แล้ว ยังไปกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์อีกหลายแห่ง ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินซ้ำซ้อน
ปัจจุบันมีสหกรณ์ 7 แห่ง ที่สามารถส่งข้อมูลสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครดิตบูโรแล้ว หนึ่งในนั้นคือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น ที่สามารถบริหารงานสหกรณ์ได้เป็นอย่างดี จนมีกำไรในปีที่ผ่านมากว่า 1 พันล้านบาท
นายอนุศาสตร์ สอนศิลพงศ์ ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ ‘ฐานเศรษฐกิจ’ ว่า ผลประกอบการของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นในปีที่ผ่านมา กำไรอยู่ที่ 1,035 ล้านบาท โดยได้กำไรทั้งหมดจากการเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ในปีที่ผ่านมาอัตรา 5.90% ต่อปี
ขณะที่ทุนเรือนหุ้นและเงินทุนสำรองมีมูลค่า 16,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับมีการกู้ยืมจากพันธมิตร และสถาบันการเงินอีกราว 12,000 ล้านบาท รวมแล้วมีทุนหมุนเวียนราว 30,000 ล้านบาท โดยมีสมาชิกกว่า 22,000 คน
นอกจากนี้ยังได้เงินปันผลงวดปี 66 เฉลี่ยคืนให้สมาชิกเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2567 ในอัตรา 5% และเงินเฉลี่ยคืน 10%
ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลประกาศนโยบายแก้หนี้ สหกรณ์ฯ ก็ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจาก 5.90% เป็น 4.95% ซึ่งยังไม่สามารถลดลงได้เร็วตามที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ขอความร่วมมือ เพราะเป็นสหกรณ์ฯที่ยังเงินขาด ต้องกู้เงินจากสหกรณ์อื่น ๆ และสถาบันการเงินมาปล่อยกู้ต่อ ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงพอสมควร แต่การลดอัดตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงในครั้งนี้ ทำให้กลายเป็นดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ของสหกรณ์ฯแล้ว
สำหรับการแก้ปัญหาหนี้สินของสมาชิก ได้ออกโครงการกู้เงินสามัญเพื่อรวมหนี้กับสถาบันการเงินอื่น ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีการใช้วงเงินในส่วนนี้ไปแล้วกว่า 200 ล้านบาท
ล่าสุดธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย เข้ามาหารือให้ความช่วยเหลือสมาชิกสมากชิกด้วยการรวมหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ
นอกจากนี้ ยังมีการเรียกสมาชิกที่เมือหักหนี้แล้ว มีเงินคงเหลือต่อเดือนต่ำกว่า 30% เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ รวมหนี้ ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ไปจนถึงมีการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราพิเศษ 4.75% ตามนโยบายของรัฐบาล
“เรานำร่องดอกเบี้ยเงินกู้ 4.75% ตามนโยบายรัฐให้กับสมาชิกกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาทางการเงินก่อน ด้วยการเรียกเข้ามาพูดคุยเจรจากับสมาชิกแบบรายต่อราย รวมถึงจัดอบรมให้ความรู้สมาชิกเป็นประจำ เพท่อสร้างวินัยการเงิน”
สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น ถือว่าเป็นสถาบันการเงินภายใต้อุดมการณ์ของสหกรณ์ ดังนั้น การที่เชื่อมต่อข้อมูลกับเครดิตบูโรนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้ทราบข้อมูลหนี้ของสมาชิกประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ขณะเดียวกันสถาบันการเงินอื่น ๆ ก็จะทราบถึงสถานะหนี้ของลูกค้าด้วย ถือเป็นเรื่องดีกับทุกฝ่าย
“ฝ่ายบริหารของสหกรณ์ต้องให้ความสำคัญ และให้กำลังใจกับผู้ดำเนินงานในทุกฝ่าย ส่วนทางเครดิตบูโร ก็มีเจ้าหน้าที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือตลอด ดังนั้นการเชื่อมระบบ มันเพิ่มขั้นตอนการทำงานและใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่งในแต่ละปี แต่มีความคุ้มค่าในระยะยาว ในช่วงแรก ๆ สมาชิกอาจจะอึดอัดใจบ้าง แต่การสื่อสารคือหัวใจสำคัญของทั้งหมด”