การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ บรรจุใหม่ ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป สำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือน และเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น นอกจากการปรับเงินเดือนแล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ยังมีการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ หรือกลุ่มข้าราชการเดิม ซึ่งรับราชการอยู่ก่อนวันที่อัตราเงินเดือนแรกบรรจุใหม่มีผลใช้บังคับไปด้วยในคราวเดียวกัน
สำหรับรายละเอียดของการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบครั้งนี้ นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า ในส่วนของการจัดเงินชดเชยข้าราชการรายเดิมนั้น ก.พ. มีหลักในการคิดโดยจะยึดหลักเดียวกับการปรับเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ เพื่อป้องกันการลักลั่นของฐานเงินเดือนข้าราชการ
ทั้งนี้ในการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ กำหนดให้ปรับเงินเดือนชดเชยจำนวน 2 ครั้ง โดยให้มีผลใช้บังคับพร้อมกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 และปีที่ 2 โดยปรับเงินเดือนชดเชยในแต่ละปีให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับราชการก่อนวันที่อัตราแรกบรรจุที่กำหนดใหม่มีผลใช้บังคับอย่างน้อย 10 ปี
โดยอัตราเงินเดือนของผู้ที่รับราชการอยู่ก่อนจะต้องไม่น้อยกว่าผู้ที่บรรจุเข้ารับราชการใหม่ โดยใช้คุณวุฒิระดับเดียวกัน และอัตราเงินเดือนหลังการปรับจะต้องไม่ทำให้ผู้ซึ่งเคยได้รับเงินเดือนสูงกว่า กลายเป็นผู้ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าผู้ดำรงตำแหน่งประเภทและระดับเดียวกันที่บรรจุในวุฒิเดียวกัน
สำหรับการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ จะครอบคลุมข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบด้วย
สำหรับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมติครม. กำหนดประมาณการว่า จะใช้งบประมาณในปีที่ 1 (12 เดือน) จำนวน 7,200 ล้านบาท และปีที่ 2 (12 เดือน) จำนวน 8,800 ล้านบาท
โดยให้ส่วนราชการใช้จ่ายจากงบประมาณของแต่ละส่วนราชการเป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง รายการเงินเลื่อนเงินเดือน และเงินปรับวุฒิข้าราชการในลำดับต่อไป