จี้รัฐคลอดยุทธศาสตร์ชาติ ดึงบิ๊กคอร์ปลงทุนผลิตชิป

06 เม.ย. 2567 | 02:32 น.
อัปเดตล่าสุด :06 เม.ย. 2567 | 02:48 น.

ภาคธุรกิจ-นักวิชาการ หนุนรัฐ ช่วงชิงบิ๊กเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกลงทุนไทย ชี้เป็นหัวใจสำคัญนวัตกรรมยุคใหม่ เชื่อไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบ ไม่มีแผ่นดินไหวรุนแรง น้ำ-ไฟ มีเสถียรภาพ ส.อ.ท. จี้รัฐคลอดยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ สร้างมั่นใจนักลงทุน

KEY

POINTS

  • ส.อ.ท. ระบุหากไทยจะยกระดับในการเป็นฐานการลงทุนเพื่อผลิตและส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญของโลก ภาครัฐและเอกชนต้องผลักดันยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์ของชาติ
  • นักวิชาการ ชี้เป็นจังหวะที่ดีสุดในการดึงผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เข้ามาลงทุนในไทย โดยเซมิคอนดักเตอร์ เป็นพื้นฐานสำคัญสนับสนุนอุตสาหกรรมไฮเทคของประเทศ  ลดการพึ่งพาต่างประเทศ
  • BOI เผยภายใน 1-2 ปี จะเห็นการขยายการลงทุนของเทคโนโลยีชั้นสูง ตลอดทั้งซัพพลายเชน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เข้ามาในไทย จะเห็นการลงทุนโรงงาน ผลิตแผงวงจร PCB มูลค่าการลงทุนตั้งแต่ 5,000 -30,000 ล้านบาท

เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) เป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่ คาดการณ์ว่าตลาดเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก มีขนาดตลาดอยู่ที่ 527,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 และคาดว่าจะสูงกว่า 1.38 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2572 โดยเติบโตเฉลี่ย 12.2% ต่อปี อย่างไรก็ตามสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน มีผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

ปรากฎการณ์การหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่ผ่านมา ทำให้บริษัทเซมิคอนดักเตอร์กำลังประเมินการดำเนินงานใหม่อย่างมีกลยุทธ์ กระจายห่วงโซ่อุปทานไปทั่วภูมิภาคเพื่อป้องกันความเสี่ยง เปิดโอกาสให้หลายประเทศในอาเซียน รวมทั้งไทยพยายามช่วงชิงโอกาสดึงเม็ดเงินลงทุนของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์

จี้รัฐคลอดยุทธศาสตร์ชาติ ดึงบิ๊กคอร์ปลงทุนผลิตชิป

จี้คลอดยุทธศาสตร์ เซมิฯชาติ

นายวิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากไทยจะยกระดับในการเป็นฐานการลงทุนเพื่อผลิตและส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญของโลก ภาครัฐและเอกชนจะต้องมีการผลักดันยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์ของชาติ (National Semiconductor Strategy) เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติได้เห็นถึงแผนงาน/ยุทธศาสตร์ และการวางตำแหน่งห่วงโซ่อุปทาน หรือซัพพลายเชนของไทยในเวทีโลกที่ชัดเจนว่าวางไว้อย่างไร มีจุดแข็ง-จุดอ่อนอย่างไร เพื่อให้นักลงทุนใช้ในการตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนไทยได้ง่ายขึ้น

 “การที่เขาจะมาลงทุนไม่ได้มองที่สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนอย่างเดียว แต่มองถึงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงการวางตำแหน่งและเป้าหมายเซมิคอนดักเตอร์ที่อยากให้เข้ามาลงทุนในไทย และวางอนาคตไว้อย่างไร เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมใดบ้าง เพราะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีหลายระดับ และมีหลายสเปก ทั้งสเปกสูง กลาง ต่ำ และมีหลายระดับราคา นักลงทุนได้วางแผนได้ถูก”

 

ชี้จังหวะดีสุดดึงลงทุนเซมิฯชั้นสูง

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)กล่าวว่า ขณะนี้เป็นจังหวะที่ดีสุดในการดึงผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เข้ามาลงทุนในไทย โดยเซมิคอนดักเตอร์ เป็นพื้นฐานสำคัญสนับสนุนอุตสาหกรรมไฮเทคของประเทศ ซึ่งหากพัฒนานวัตกรรมของตัวเอง ลดการพึ่งพาต่างประเทศ จำเป็นต้องมีอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นต้นน้ำ ทั้งการผลิตแผ่นเวเฟอร์ แฟบ หรือ แผงวงจร PCB โดยภาครัฐจะต้องมีนโยบายสนับสนุนแบบจริงจัง เนื่องจากการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ชั้นสูงนั้นต้องใช้เม็ดเงินลงทุนสูง

“ที่ผ่านมาเอกชนถือว่ามีความพร้อมและมีความสามารถในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นสูง ขึ้นอยู่กับนโยบายการส่งเสริมภาครัฐที่เข้ามาสร้างแต้มต่อให้อย่างจริงจัง โดยประเทศไทยตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดี ไม่ได้อยู่ในแนวรอยเลื่อนสำคัญๆ ทำให้ไม่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรง นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และมีความมั่นคงด้านพลังงาน ส่วนบุคลากรนั้นมองว่าสถาบันการศึกษา มีการผลิตบุคลากรด้านอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เซมิคอนดักเตอร์อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องยกระดับไปสู่การพัฒนาบุคลากรในระดับเทคโนโลยีชั้นสูงขึ้น”

ด้าน รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า หากพิจารณาถึงศักยภาพและจุดเด่นของประเทศในกลุ่มอาเซียน มีศักยภาพที่แตกต่างกันตามห่วงโซ่อุปทาน โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ เช่น ไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์การผลิตอุปกรณ์เสริม ผลิตซอฟต์แวร์ วิจัยและพัฒนา และศูนย์ทดสอบ, มาเลเซีย มีศักยภาพที่จะเป็นฐานการผลิต wafer อุปกรณ์เสริม และศูนย์ทดสอบ, สิงคโปร์มีศักยภาพที่เป็นฐานการผลิต wafer อุปกรณ์และซอฟต์แวร์ และเวียดนามมีศักยภาพที่จะเป็นฐานการผลิต Fabless ในรถยนต์ และโทรศัพท์

“อุตสาหกรรมไทยหลัก ๆ จะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ที่ส่วนใหญ่เป็นรถไฟฟ้าจีน ดังนั้นชิปที่ผลิตในไทยจะขึ้นกับนักธุรกิจและบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจีน นอกจากนี้ขึ้นกับอุตสาหกรรมในอนาคตที่ประเทศไทยวางไว้ด้วยว่ามีความชัดเจนแค่ไหน เช่น อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต หรือการทำการเกษตรที่จะต้องใช้นวัตกรรม”

ปัจจุบันมีผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในไทยประมาณ 100 บริษัท โดยสัดส่วน 20% เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ที่เหลือเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในจำนวนนี้สัดส่วน 70% เป็นบริษัทต่างชาติ อาทิ บริษัท NXP จากเนเธอร์แลนด์, บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิกส์ จำกัด จากไต้หวัน, บริษัท อนาล็อก ดีไวเซส จากสหรัฐ, บริษัท Micorn จากสหรัฐ, บริษัท Sony และ Toshiba จากญี่ปุ่น และบริษัท KEC จากเกาหลีใต้ เป็นต้น

“ฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิปในไทย เป็นชิปที่ผลิตในระดับขั้นกลาง โดยอยู่กระบวนการตัดแผ่นเวเฟอร์ และการประกอบชิปที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบต้นน้ำ และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ในแต่ละปีไทยส่งออกเซมิคอนดักเตอร์มากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ แผงวงจรไฟฟ้า (IC) และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ โดย 80% เป็นการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้า ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐ ฮ่องกง และสิงคโปร์”

ผู้ผลิตชิปชั้นสูงแห่ลงทุนไทย

ขณะที่นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผ่านมา ไทยประสบความสำเร็จในการดึงการลงทุนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำมาลงทุนในประเทศไทย ดังนั้น รัฐบาลจึงตั้งเป้าพัฒนาให้เกิดระบบนิเวศ ด้วยการดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง เช่น การผลิตชิปต้นน้ำ การออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ การรับจ้างผลิตและทดสอบชิปขั้นสูง เข้ามายังประเทศไทย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมให้มีมูลค่าสูง สร้างงานทักษะสูงในประเทศ โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างเจรจากับบริษัทระดับโลกหลายราย พร้อมพัฒนาบุคลากรไทยเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเหล่านี้

“ในการเดินทางโรดโชว์ 14 ประเทศของนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่ผ่านมา บีโอไอได้ประเมินเงินลงทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากกิจกรรมดังกล่าว และจากมาตรการสนับสนุนของรัฐบาลใน 4 อุตสาหกรรมหลัก รวมมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 558,000 ล้านบาท แบ่งเป็น อุตสาหกรรมดิจิทัล 250,000 ล้านบาท, อุตสาหกรรม EV และชิ้นส่วน 210,000 ล้านบาท, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ 95,000 ล้านบาท และอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น โลจิสติกส์ 3,000 ล้านบาท”

 ขณะที่นายวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมามีมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ในไทย มูลค่า 8 แสนล้านบาท โดยภายใน 1-2 ปี จะเห็นการขยายการลงทุนของเทคโนโลยีชั้นสูง ตลอดทั้งซัพพลายเชน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เข้ามาในไทย จะเห็นการลงทุนโรงงาน ผลิตแผงวงจร PCB มูลค่าการลงทุนตั้งแต่ 5,000 -30,000 ล้านบาท โดยเชื่อมั่นว่าไทยมีความพร้อมรองรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หรืออิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคงพลังงาน และน้ำ รวมถึงทักษะแรงงานชั้นสูง