สหภาพฯขยับ ยื่นปลด-จี้สอบ "ผอ.ขสมก." ปมจอดทิ้งรถเมล์ 486 คัน-บริหารล้มเหลว

23 เม.ย. 2567 | 03:29 น.
อัปเดตล่าสุด :23 เม.ย. 2567 | 03:34 น.

สหภาพแรงงานฯ ขสมก. ขยับแรง ยื่นนายกฯ-รมว.คมนาคม ปลดหรือย้าย "ผู้อำนวยการขสมก." และให้ตั้งกรรมการสอบ กรณีจอดทิ้งรถเมล์ปอ. 486 คัน และบริหารงานที่ล้มเหลวทำให้เกิดความเสียหาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(23เม.ย.67) มีความเคลื่อนไหวจาก “สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ” หรือ สร.ขสมก. ที่มีกำหนดการเข้ายื่นหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ขอให้ปลดหรือย้ายผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดชอบ กรณีจอดรถโดยสารปรับอากาศ 486 คัน และการบริหารงานล้มเหลวเสียหายต่อองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

รายงานข่าวจาก สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ระบุเนื้อหาของหนังสือที่จะยื่นลงนามโดยนายประมิต เมฆฉาย ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เนื้อหาโดยสรุประบุว่า ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารสหภาพฯขสมก. กรณีเร่งด่วน เมื่อวันที่ 9 เม.ย.67 มีมติให้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ตามที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้สรรหาว่าจ้างผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยนายกิตติกานต์ จอมดวงจารุวรพลกุล เข้ามาบริหารงาน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา การบริหารงานล้มเหลว ไม่เป็นไป ตามวิสัยทัศน์ที่เสนอไว้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ สร้างความเสียหายให้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและรัฐ หลายประการด้วยกัน เกิดความระส่ำระสายในองค์กรที่ผู้นำองค์กรขาดภาวะผู้นำ ขาดความเป็นนักบริหารมืออาชีพโดยสิ้นเชิง 

จากนั้นหนังสือร้องเรียนได้บรรยายข้อร้องเรียน 4 เรื่อง สรุปประเด็นได้คือ 

ประการที่ 1 การที่ให้รถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊ซธรรมชาติ (NGV) ยี่ห้อ Bonluck (BLK) 486 คัน หยุดให้บริการตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน สร้างความเสียหายต่อองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และการให้บริการประชาชน

ประการที่ 2 การบริหารงานบุคคลที่รวบอำนาจการบริหารไว้แต่เพียงผู้เดียว ไม่กระจายอำนาจ

ประการที่ 3 อัตรากำลังพนักงานขับรถโดยสาร และ พนักงานเก็บค่าโดยสาร ถือเป็นหัวใจของการบริหารงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

และประการที่ 4 การใช้งบประมาณไม่เกิดความคุ้มค่าสมประโยชน์ ใช้งบประมาณฟุ่มเฟือยนำไปปรับปรุงอาคารสถานที่ ที่สำนักงานใหญ่มากมาย โดยไม่มีความจำเป็นใดๆ 


ในตอนท้ายของหนังสือระบุว่า สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เห็นว่าหากให้ นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล บริหารงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพต่อไป ในฐานะผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ มีแต่จะสร้างผลกระทบ สร้างความเสียหายต่อองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ต่อรัฐและประชาชน มากยิ่งขึ้น จึงขอให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีบัญชาสั่งการให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และหาผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วเป็นที่ประจักษ์และเพื่อให้การสอบสวนเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม และโปร่งใสไม่มีอำนาจใดๆ เข้ามาแทรกแซง

เห็นสมควรให้ย้ายผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ออกจากพื้นที่ ให้ไปประจำการที่กระทรวงคมนาคม หรือทำเนียบรัฐบาล จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น หากไม่มีการดำเนินการใดๆสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จะมีมาตรการในการเคลื่อนไหวต่อไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และของรัฐ ตามสิทธิ์ของกฎหมายต่อไป