โฆษกรัฐบาล แจงยิบแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ไม่เข้ากระเป๋าเจ้าสัว

23 เม.ย. 2567 | 08:10 น.
อัปเดตล่าสุด :23 เม.ย. 2567 | 08:16 น.

โฆษกรัฐบาล แจงโครงการนโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ศึกษาข้อมูลชัดเจน เงินไม่เข้ากระเป๋าเจ้าสัวแน่ พร้อมแจกแจงตัวเลขเงินหมุนเวียนในระบบการค้า

วันนี้ (23 เมษายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังที่ประชุมครม.เห็นชอบหลักการโครงการนโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า ได้ไปศึกษาข้อมูลถึงข้อห่วงใยและข้อครหาว่าโครงการนี้ว่าถูกออกแบบมาและจะทำให้เงินไหลเข้ากระเป๋าเจ้าสัว และร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น เห็นว่า กรณีดังกล่าวไม่น่าจะเป็นความจริงทั้งหมด

ทั้งนี้เห็นว่า จากการตรวจสอบร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น ในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 14,500 สาขา มีเพียงครึ่งหนึ่ง เป็นของบริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) โดยตรง ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นแฟรนไชส์ และเมื่อเทียบกับจำนวนร้านค้าขนาดเล็ก และร้านค้าย่อย จากการลงตัวเลขในโครงการคนละครึ่งของรัฐบาลที่ผ่านมา ล่าสุด กระทรวงการคลังรายงานว่า มีตัวเลขร้านค้าต่าง ๆ ลงทะเบียนกว่า 1.2 ล้านร้านค้าด้วยกัน

“ร้านค้าที่ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งเหล่านี้มีโอกาสสูงที่จะลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ส่วนข้อกังวลว่าจะผูกขาดร้านสะดวกซื้อ 14,500 บาทสาขา จึงอยากให้เปรียบเทียบดูว่าจำนวนต่างกันมาก ดังนั้นโอกาสที่ประชาชนจะไปใช้จ่าย และเงินไม่เข้ากระเป๋าใครที่กังวลก็มีสูงเช่นกัน” นายชัย กล่าว

 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาถึงการใช้จ่ายเงินในร้านค้าปลีกทั่วประเทศ แต่ละปีมีเงินหมุนเวียนในการซื้อขายสินค้ากว่า 4.1 ล้านล้านบาท แต่ร้านสะดวกซื้อ ที่มีคนพยายามจะให้ข้อมูลเพื่อให้เข้าใจผิดกัน แต่ละปีหนึ่งมีมูลค่าเพียง 3.8 หมื่นล้านบาท เท่านั้น ดังนั้นในข้อเท็จจริง จึงไม่เป็นไปอย่างที่กังวลใจกัน

นอกจากนี้ยังเห็นว่า การใช้เงินภายใต้โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ไม่ว่าประชาชนจะไปซื้อของในร้านประเภทใดก็ตาม อย่างน้อยก็เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ เพราะร้านค้าจะต้องนำเงินไปซื้อสินค้าใหม่ที่เป็นสินค้าทุนเสมอ 

“รัฐบาลไม่ได้ตั้งข้อรังเกียจว่าเงินที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ควรเข้ากระเป๋าใคร หรืออย่างไร แต่มองว่า ถ้าเงินดิจิทัลวอลเล็ต นี้ผ่านมือประชาชนไปแล้ว เอาไปใช้จริงร่วมกันใช้อย่างเต็มที่ ผ่านกลไกทางด้านการค้า และในที่สุดเงื่อนไขการเบิกเงินก็ต้องเป็นผู้เล่นที่เป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี จึงจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ยืนยันว่าไม่เคยคิดที่จะตั้งเงื่อนไข กีดกันใครก็ตามที่ทำมาหากินแล้วประสบความสำเร็จ เติบโตขึ้นมาบนระบบที่ถูกต้อง” โฆษกรัฐบาล ระบุ

อย่างไรก็ตามในขั้นตอนต่อจากนี้ ภายลังครม. เห็นชอบในหลักการทั้งหมดของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต แล้ว ทุกฝ่ายเกี่ยวข้อง กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ จะต้องไปทำรายละเอียด โดยมีการคำนวนไทม์ไลน์แล้วว่าจะทันเปิดให้มีการลงทะเบียนในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 นี้อย่างแน่นอน และการจ่ายเงินการโอนรัฐบาลจะทำให้ถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด

 

โฆษกรัฐบาล แจงยิบแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ไม่เข้ากระเป๋าเจ้าสัว