สภาอุตฯลุย “4 Go” เพิ่มขีดแข่งขัน 46 กลุ่ม ก้าวข้ามค่าแรงขั้นตํ่า

13 พ.ค. 2567 | 07:05 น.
อัพเดตล่าสุด :13 พ.ค. 2567 | 07:27 น.

รัฐบาลประกาศเตรียมปรับขึ้นค่าจ้าง หรือค่าแรงขั้นตํ่าเป็น 400 บาททั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 หากมีการปรับขึ้น จะเป็นการปรับเป็นรอบที่ 3 ของปีนี้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคเอกชนที่จะเป็นผู้แบกรับภาระ

โดยหอการค้าไทยและ 54 สมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น ระบุหากมีการปรับอัตราค่าจ้างที่สูงกว่าความเป็นจริง และปรับมากกว่า 1 รอบในแต่ละปี จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนการบริหาร และต้นทุนการจ้างงานทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยภาคผลิต ภาคการค้า และบริการ ภาคท่องเที่ยวที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันจะได้รับผลกระทบมาก ซึ่งจะนำหารือในเรื่องนี้กับรัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงานเพื่อแสดงจุดยืนต่อไป

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ค่าแรง เป็นอีกต้นทุนสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องรับภาระ ดังนั้นเพื่อก้าวข้ามค่าแรงขั้นตํ่าในระยะยาว และในวาระการดำรงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.ในสมัยที่ 2 (วาระปี 2567-2569) นอกจากการขับเคลื่อนนโยบาย ONE FTI (One Vision, One Team, One Goal) ให้มีความต่อเนื่องและให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อจากวาระแรกแล้ว จะเร่งขับเคลื่อนสมาชิก (1.6 หมื่นราย) ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อยกระดับสู่สมาร์ทเอสเอ็มอี

เกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ทั้งนี้จะเร่งผลักดันใน “4 Go” ประกอบด้วย 1.Go Digital& AI โดยสนับสนุนแพ็กเกจโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สำคัญ ๆ ต่าง ๆ ภายใต้โครงการ “DigitalOne” และใช้ AI เพื่อช่วยยกระดับเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ในการช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เบื้องต้นได้ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล ของ ส.อ.ท.จัดทำแพ็กเกจโปรแกรม ราคาเพียง 1,110 บาท

 2.Go Innovation เป็นเอสเอ็มอี “จิ๋วแต่แจ๋ว” ด้วยนวัตกรรม โดยมีเอสเอ็มอีของไต้หวันและอิสราเอลเป็นต้นแบบ ซึ่งจะนำงานวิจัยต่าง ๆ มาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของผู้ประกอบการ ในเรื่องนี้จะร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)(สวก.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(NIA) และอื่น ๆ

3.Go Global ผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการผลิตและขายสินค้าไปต่างประเทศในมาตรฐานที่ต่างประเทศยอมรับ ซึ่งจะร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกระทรวงการต่างประเทศ ในการนำผู้ประกอบการร่วมคณะเดินทางต่างประเทศ เช่น ร่วมงานแสดงสินค้า โรดโชว์ เพื่อโปรโมตและขยายตลาดสินค้าจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มากขึ้น ล่าสุดได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ สสว. จัดฝึกอบรมหลักสูตร SMEs Go Global

และส่วนสุดท้ายที่เพิ่มขึ้นมาอีก 1 Go จากเดิมที่ได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ช่วงเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท.ที่มี 3 Go ข้างต้น เป็น Go ตัวที่ 4 คือ Go Green หรือธุรกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจะร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในการสนับสนุนผู้ประกอบการ Go Green ใช้พลังงานสะอาด ผลิตสินค้ารักษ์โลก เป็นต้น

สภาอุตฯลุย “4 Go” เพิ่มขีดแข่งขัน 46 กลุ่ม ก้าวข้ามค่าแรงขั้นตํ่า

 “สภาอุตสาหกรรมฯจะเร่งขับเคลื่อน 4 Go เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิกสู่สมาร์ทเอสเอ็มอี และเพื่อก้าวผ่านค่าแรงขั้นตํ่า โดยเวลานี้ใน 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.สัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งได้ปรับตัวสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เลยจุดที่จะพูดถึงค่าแรงขั้นตํ่าแล้ว กลุ่มนี้ที่เขากังวลเป็นคนละปัญหากับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่า แต่ปัญหาของเขาคือ พร้อมจ่าย แต่มีบุคลากรที่มีทักษะที่จะรองรับงานไม่เพียงพอ”

 อย่างไรก็ดีในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ ส.อ.ท.จะเร่งผลักดัน “4 Go” อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอีกครึ่งหนึ่งของสมาชิก ที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เปราะบาง มีกำไรตํ่า ใช้แรงงานสูง ที่ก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากโควิดที่เพิ่งคลี่คลาย ปัจจุบันเจอกับสภาพเศรษฐกิจที่ผันผวน และยังต้องเผชิญกับสินค้าจากต่างประเทศที่มีราคาตํ่าเข้ามาดัมพ์ตลาด ทำให้แข่งขันลำบาก

ทั้งนี้เพื่อช่วยลดต้นทุน แข่งขันด้วยนวัตกรรม และการยกระดับความสามารถในการแข่งขันสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักค่าแรงขั้นตํ่า ภายใต้การผลักดันของ ส.อ.ท. และการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในช่วง 2 ปีนับจากนี้