อีอีซี เปิดช่องเจรจา “เอเชีย เอรา วัน” โยกใช้สิทธิ EEC แทน BOI

21 พ.ค. 2567 | 00:00 น.

รถไฟความเร็วสูง เชื่อมสามสนามบิน มูลค่ากว่า 2.24 แสนล้าน เตรียมได้ข้อสรุป “จุฬา สุขมานพ” รับเตรียมเจรจา “เอเชีย เอรา วัน” โยกใช้สิทธิประโยชน์ EEC แทน BOI ที่กำลังถึงเดดไลน์ 22 พฤษภาคม 2567 นี้

โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน ระหว่างดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มูลค่ากว่า 2.24 แสนล้านบาท บริเวณพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งมีบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เป็นบริษัทเอกชนคู่สัญญากับรัฐ ใกล้ได้ข้อยุติกรณีการขอรับสิทธิประโยชน์ในการลงทุนก่อสร้างแล้ว

ล่าสุด นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)  เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีความคืบหน้าไปมากและใกล้ที่จะได้ข้อสรุปร่วมกันแล้ว เกี่ยวกับการขอรับสิทธิประโยชน์ ซึ่งเอกชน อาจจะเข้ามาใช้สิทธิประโยชน์ของทาง EEC แทน สิทธิประโยชน์ของบีโอไอ

เดิมทีในการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ในการลงทุนก่อสร้างนั้น บีโอไอได้ขยายเวลาในการส่งเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมการลงทุนอีก 4 เดือน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 22 มกราคม 2567 เป็นวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 แต่ล่าสุดมีความชัดเจนในเบื้องต้นแล้วว่า เอกชนจะไม่ได้ขอสิทธิประโยชน์จากบีโอไอแล้ว แต่จะมายื่นขอสิทธิประโยชน์จากอีอีซีแทน 

“หลังจากนี้คงต้องมีการเจรจาและหารือกันในภาพใหญ่ รวมไปถึงการแก้ไขสัญญา เช่นเดียวกับหารือเกี่ยวกับการออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน หรือ NTP เพื่อให้มีการเริ่มการก่อสร้างได้ และเป็นกรอบในการเจรจาที่มีอยู่ คาดว่าไม่นานจะต้องคุยในรายละเอียดให้จบ และน่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการได้ภายในปีนี้ เพราะโครงการนี้ล่าช้ากว่าแผนไปประมาณ 4 ปีแล้ว” นายจุฬา ระบุ

นายจุฬา ยอมรับว่า ในการเจรจาร่วมกันคงต้องมาหารือกันเรื่องของสิทธิประโยชน์ให้ชัดเจนว่าเอกชนต้องการอะไร ขณะที่อีอีซี สนับสนุนอะไรได้บ้าง โดยจะเน้นไปที่ภาพใหญ่ของโครงการ เพราะนอกจากโครงการก่อสร้างรถไฟแล้วยังมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นการหารือและเจรจาคงต้องมาดูกันให้ครบก่อน

นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญหาเดิมที่ต้องเจรจาให้จบอีกเรื่อง คือ เกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนกับเส้นทางรถไฟไทย-จีน บริเวณสถานีบางซื่อ ถึงสถานีหลักสี่ เบื้องต้นอาจจะก่อสร้างรถไฟให้รองรับความเร็วระดับ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ โดยอาจไม่ต้องรองรับความเร็วระดับ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้ว เพื่อจะได้เริ่มงานก่อสร้างได้เร็วขึ้น แต่ทั้งหมดก็ต้องมีการเจรจากันอีกครั้ง