เครื่องยนต์เศรษฐกิจ ติดไม่เต็มร้อย โจทย์หินดัน GDP ปี 2567 ทะลุเป้า

26 พ.ค. 2567 | 04:31 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2567 | 04:32 น.

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ยังเผชิญปัญหาน่าห่วงที่จะส่งผลต่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจ อาจเดินเครื่องไม่เต็มที่ และอาจทำให้การขับเคลื่อน GDP ปี 2567 ให้ทะลุ 2.5% อาจไม่ง่ายนักตามที่ตั้งเป้าหมาย

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มการขยายตัวต่ำ จนอาจจะโตได้เพียงแค่ครึ่งเดียวจากเป้าหมายของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ที่ประกาศเอาไว้ว่า ต้องการเห็นเศรษฐกิจไทยโตไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี หลังจาก สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แถลงตัวเลขจริงของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปี 2567 พบว่า ขยายตัวแค่ 1.5% จนทำให้ทั้งปีต้องปรับลดประมาณการลงเหลือ 2-3% หรือมีค่ากลางแค่ 2.5% เท่านั้น

เหตุผลสำคัญของการหั่นประมาณการเศรษฐกิจลงไปจนต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน ส่วนใหญ่มาจากปัญหาทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า นโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะเป็นลูกโซ่สำคัญที่ส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจไปทั่วโลก 

ขณะที่ในประเทศแน่นอนว่า ปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ถือเป็นปัญหาก้อนใหญ่ที่แก้ยาก และคงต้องใช้เวลาพอสมควร เช่นเดียวกับปัญหาด้านการใช้จ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะรายจ่ายงบลงทุน ซึ่งในปีนี้ สศช. ประเมินตัวเลขค้อนข้างต่ำ ทั้งการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวแค่ 3.2% โดยการลงทุนภาครัฐ ประเมินว่าจะติดลบอย่างน้อย 1.8% หลังจากติดปัญหาด้านงบประมาณที่ออกมาล่าช้าตั้งแต่ช่วงต้นปี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์ลงไปถึงรายละเอียดของปัญหาทั้งหมด พบข้อมูลที่น่าสนใจหลายด้านสรุปได้ดังนี้

ความเสี่ยงภายนอกประเทศ : สิ่งแรกที่ต้องจับตา นั่นคือ ความเสี่ยงจากความผันผวนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก อาจทำให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ โดยต้องติดตามและประเมินสถานการณ์สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ความยืดเยื้อของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน 

เช่นเดียวกับสถานการณ์ "สงครามการค้า" ผ่านมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เพราะหากยืดเยื้อรุนแรงมากขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อห่วงโซ่การผลิตโลกและเศรษฐกิจโลกในภาพรวม 

เรื่องต่อมา คือ ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจหลักที่ยังคงสูงกว่าเป้าหมายนโยบายการเงิน จนส่งผลให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายช้ากว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง (Sticky Core Inflation) เนื่องจากสถานการณ์ตลาดแรงงานตึงตัว จึงส่งผลให้ราคาหมวดบริการและอัตราค่าจ้างขยายตัวในเกณฑ์สูง 

ขณะที่การชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจจีน เนื่องมาจากการลดลงของการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากปัญหาหนี้สิน ประกอบกับการบริโภคภายในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวท่ามกลางภาวะเงินฝืด และภาระหนี้สินของภาครัฐบาลท้องถิ่นที่อยู่ในระดับสูง และต้องทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของหลายประเทศสำคัญที่ยังคงไม่แน่นอนด้วย

 

ข้อมูลเศรษฐกิจไทย ปี 2567 สศช.

การส่งออก : ภายใต้ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศหลายด้าน ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหญ่อย่างการส่งออก ข้อมูลล่าสุดของสภาพัฒน์ ประเมินมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวแค่ 2% ซึ่งปรับลดลงจาก 2.9% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้น 1.5% ปรับลดลงจาก 2.4% ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการลดลงของปริมาณการส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2567

ส่วนแนวโน้มการฟื้นตัวของการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีมีข้อจำกัดจากการฟื้นตัวที่ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ของภาคการผลิตอุตสาหกรรม สอดคล้องกับการปรับลดประมาณการการขยายตัวของปริมาณการค้าโลกจาก 3% ในการประมาณการครั้งก่อน เป็น 2.8% ในการประมาณการครั้งนี้

ทั้งนี้เมื่อรวมกับการส่งออกบริการที่มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัว 4.7% เพิ่มขึ้นจาก 2.1% ในปี 2566

ปัญหาหนี้ครัวเรือน : ข้อมูลล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาสที่สี่ของปี 2566 ยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ที่ 91.3% ใกล้เคียงกับ 91.4% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ยังคงสูงกว่าเมื่อเทียบกับ 84.1% ในไตรมาสเดียวกันของปี 2562

ขณะที่ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงและการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย โดยสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 7.2% เช่นเดียวกับสัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นพิเศษ (SML) โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์อยู่ในระดับที่สูงถึง 14.3% ต่อสินเชื่อรวม รวมไปถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อส่วนบุคคลอื่น ๆ ก็ยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นด้วย

การใช้จ่ายภาครัฐ : ในปี 2567 สศช.ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยลงสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการใช้จ่ายด้านการลงทุนภาครัฐติดลบเพียงตัวเดียวถึง 1.8% และเป็นการลดลงต่อเนื่องจากที่เคยติดลบ 4.6% ในปี 2566 เป็นผลมาจากความล่าช้าของกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และกรอบวงเงินงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ลดลงจากปีก่อนหน้า 

พร้อมกันนี้การจัดทำงบประมาณส่วนหนึ่งรัฐบาลให้ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณ ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยเฉพาะการไม่สามารถผลักดันงบประมาณลงไปใช้ในโครงการที่มีความสำคัญกับการวางรางฐานประเทศในระยะยาว ซึ่งช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันของประเทศด้วย

 

เครื่องยนต์เศรษฐกิจ ติดไม่เต็มร้อย โจทย์หินดัน GDP ปี 2567 ทะลุเป้า

 

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปัจจุบัน ส่งผลกระทบให้ผลผลิตภาคเกษตรลดลง โดยในไตรมาสแรกของปี 2567 อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง 0.5 องศาเซลเซียส ขณะที่ปริมาณฝนเฉลี่ยอยู่ที่ 68.9 มิลลิเมตร ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติที่ 41.7% 

ขณะเดียวกันปริมาณน้ำใช้ได้จริงในเขื่อนทั่วประเทศ ณ สิ้นไตรมาสที่หนึ่งของปี 2567 อยู่ในระดับต่ำที่ 23,872  ล้านลูกบาศก์เมตร ลดลง 9.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2566 ส่งผลกระทบให้ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา 

อีกทั้งในในช่วงที่เหลือของปีภายใต้การคาดการณ์แนวโน้มการเข้าสู่ภาวะ “ลานีญา” นับตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะฝนตกหนัก จนนำไปสู่ปัญหาอุทกภัย จนอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรและทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องด้วย

ด้วยปัญหาทั้งหมดที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2567 ช็อตต่อไป คงต้องรอลุ้นฝีมือรัฐบาล หลังจากประกาศเตรียมคลอดแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ว่าจะปัญหาได้ตรงจุดมากแค่ไหน อีกไม่นานคงได้รู้กัน