รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้มีการทบทวนและเปิดการรับฟังความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. .... หรือ กฎหมาย Lemon Law ซึ่งเคยผลักดันมาแล้วหลายครั้งในช่วงรัฐบาลก่อน แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้ผลักดันออกมา เพื่อควบคุมการขายสินค้าที่อาจพบว่าชำรุด และไม่ตรงปก
สำหรับเหตุผลของการออกกฎหมาย เนื่องจากที่ผ่านมาบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นยังไม่ได้ให้ความคุ้มครองผู้ซื้อและผู้ขายอย่างชัดเจนและเพียงพอ โดยเฉพาะกับสินค้าที่ผู้ซื้อไม่อาจพบเห็นความชำรุดบกพร่องได้ในเวลาซื้อขายหรือส่งมอบ
จึงสมควรกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะของความชำรุดบกพร่องของสินค้า สิทธิของผู้ซื้อและผู้ขาย และความรับผิดของผู้ขายตามประเภทของสินค้าไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน อันจะเป็นการคุ้มครองผู้ซื้อและผู้ขายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สคบ. จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
สาระสำคัญกฎหมาย Lemon Law
ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. .... หรือ กฎหมาย Lemon Law มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดขอบเขตความรับผิดของผู้ขายที่มีต่อผู้ซื้อให้ชัดเจนและเป็นระบบ เพื่ออำนวยความเป็นธรรมให้แก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภคที่จะมีสิทธิในการเรียกให้ผู้ขายซ่อมแซมสินค้า เปลี่ยนสินค้า ขอลดราคาสินค้า หรือเลิกสัญญาได้ รวมทั้งให้ผู้เช่าซื้อสามารถใช้สิทธิที่ผู้ให้เช่าซื้อมีต่อผู้ขายเรียกให้ผู้ขายรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่ตนเช่าซื้อได้
ขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ขายพิจารณาให้การเยียวยาต่อผู้ซื้ออย่างเหมาะสมและไม่ก่อให้เกิดภาระเกินสมควรต่อการประกอบธุรกิจของตน โดยพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ประเภทและชนิดของสินค้า มูลค่าของสินค้า สภาพความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้น ระยะเวลาการซ่อมแซมสินค้า ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมสินค้า และข้อพิจารณาอื่นที่เห็นสมควร อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถตรวจสอบรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. .... ซึ่งได้นำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 - 26 มิถุนายน 6257
อ่านรายละเอียด : ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. ....