เปิดองค์ประกอบคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ-หน้าที่

27 พ.ค. 2567 | 08:44 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ค. 2567 | 08:44 น.

เปิดองค์ประกอบคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ-หน้าที่ หลังกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งสถาบันฮาลาล ภายใต้สถาบันอาหาร ดันนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หนุนซอฟท์พาวเวอร์ด้านอาหาร

กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการจัดตั้ง "สถาบันฮาลาล" อย่างเป็นทางการ โดยอยู่ภายใต้สถาบันอาหาร ซึ่งล่าสุดได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ โดยมีข้อความระบุว่า 

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการสร้างซอฟท์พาวเวอร์ในสาขาต่างๆ โดยเชื่อมโยงภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยี เพื่อต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

โดยหนึ่งในสาขาซอฟท์พาวเวอร์ที่สำคัญ คือ อาหาร โดยเฉพาะอาหารฮาลาล ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีมูลค่าและอัตราการเติบโตสูงตามสัดส่วนประชากรมุสลิมโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง 
 

ประกอบกับตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิมมีการขยายตัว จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะเร่งให้การส่งเสริมและพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล และสินค้าฮาลาลอื่น ๆ ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตและส่งออกสินค้าฮาลาลในภูมิภาค

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ โดยมีองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

องค์ประกอบ

  • นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รองประธานกรรมการคนที่ 1
  • ผู้แทนการค้าไทย (นางนลินี ทวีสิน) รองประธานกรรมการคนที่ 2
  • ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กรรมการ
  • ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรรมการ
  • ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรรมการ
  • ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรรมการ
  • ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรรมการ
  • เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรรมการ
  • เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดน ภาคใต้ กรรมการ

เปิดองค์ประกอบคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ-หน้าที่

  • เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการ
  • ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการ
  • ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กรรมการ
  • ผู้แทนจุฬาราชมนตรี กรรมการ
  • เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กรรมการ
  • ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรรมการ
  • ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการ
  • คณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก กรรมการ
  • ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการ
  • ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการ และเลขานุการ
  • อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ
  • ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ
  • ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ
  • ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ
  • ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ

เปิดองค์ประกอบคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ-หน้าที่

หน้าที่และอำนาจ

  • กำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาสินค้าฮาลาล โดยเชื่อมโยงเอกลักษณ์ซอฟท์พาวเวอร์ของไทย เพื่อส่งเสริมการผลิต การจำหน่ายในประเทศและการส่งออก
  • บูรณาการแนวทาง มาตรการ แผนงาน และงบประมาณของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้มีความสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล
  • กำกับ ดูแล และเร่งรัดการดำเนินการของส่วนราชการและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวซ้อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด พร้อมทั้งติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของส่วนราชการต่าง ๆ
  • แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือบุคคลให้ดำเนินการได้ตามที่คณะกรรมการกำหนดเพื่อช่วยปฏิบัติงานการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าฮาลาลตามความเหมาะสม
  • เชิญหน่วยงาน/บุคคลที่เกี่ยวข้องมาร่วมชี้แจง หรือขอเอกสารหรือหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาตามความจำเป็น
  • ดำเนินการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

สำหรับการเบิกจ่ายค่าเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอื่นใดที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่แต่งตั้งตามคำสั่งนี้ ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. ๒๕๔๙ หรือตามระเบียบของทางราชการ แล้วแต่กรณี โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เปิดองค์ประกอบคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ-หน้าที่