“พิชัย” เตรียมปรับโครงสร้างหนี้ประชาชน ดึง “บสย.” ช่วยเข้าถึงสินเชื่อ

28 พ.ค. 2567 | 05:58 น.

“พิชัย” รมว.คลัง เตรียมปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยประชาชนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ดึงบสย. เข้ามาดูแลรายย่อยเข้าถึงสินเชื่อ ผ่านกลไกค้ำประกัน ด้าน “เผ่าภูมิ” ชงมาตรการค้ำประกัน PGS11 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นนั้น จะมีการช่วยปรับโครงสร้างหนี้ประชาชน เพื่อให้มีเงินในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้น ตามแนวคิดของนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

โดยจะมีการดึงกลุ่มลูกหนี้เข้ามาจัดโครงสร้างใหม่ อาทิ การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เพื่อให้การผ่อนค่างวดรายเดือนต่ำลง หรือกรณีลูกค้ารายใหม่ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ สามารถเข้าไปขอใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อค้ำประกันสินเชื่อได้

ทั้งนี้ วิธีการค้ำประกันของบสย. จะมี 2 รูปแบบ ได้แก่ การค้ำประกันสินเชื่อรูปแบบเดิม และอนาคตจะมีการปรับโครงสร้างบสย. เพื่อให้มีขีดความสามารถมากยิ่งขึ้น โดยส่วนตัวก็เห็นด้วยในการดำเนินการ ซึ่งบสย.สามารถช่วยค้ำประกันได้ทั้งในส่วนของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ของธุรกิจขนาดใหญ่ (เกิน 500 ล้านบาท) ขยายตัว 3.3% แต่สินเชื่อที่มีวงเงินน้อยกว่า 500 ล้านบาท หดตัว -5.1% โดยระดับเงินกองทุน (BIS Ratio) อยู่ที่ 20.1% ระดับสภาพคล่อง Liquidity Coverage Ratio อยู่ที่ 202.5% และระดับ NPL coverage ratio อยู่ที่ 176.1%

สำหรับตัวเลขเหล่านี้สะท้อนภาวะธนาคารมีเสถียรภาพมาก แต่เลือกปล่อยสินเชื่อเฉพาะธุรกิจใหญ่ ส่วน SME กลับถูกจำกัดสินเชื่อ เพราะธนาคารไม่อยากรับความเสี่ยง ภาวะนี้ทำให้ SMEs ขาดน้ำหล่อเลี้ยง จนต้องปิดตัว ชะลอการผลิต หยุดการจ้างงาน กระทบเศรษฐกิจภาพรวม

“กระทรวงการคลังต้องการต่อสู่กับภาวะนี้ ต้องการช่วยเหลือ SMEs โดยเตรียมมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (PGS11) โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อสร้างหลักประกันให้ธนาคารในการปล่อยสินเชื่อและอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินโดยด่วน กลไกนี้จะลดความเสี่ยงและเพิ่มหลักประกันให้กับ SMEs ในการประเมินของธนาคาร และช่วย SMEs ที่ไม่มีหลักประกันหรือมีไม่เพียงพอ ให้เข้าถึงสินเชื่อได้ทันที”

ทั้งนี้ ดำเนินการผ่านมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ PGS11 นี้มีวงเงินโครงการ 50,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ค้ำประกันตลอดโครงการไม่เกินร้อยละ 30 และให้ความสำคัญในการค้ำประกัน “SMEs รายใหม่” เป็นลำดับแรก เพื่อกระจายการเข้าถึงสินเชื่อ