ผ่าแผนหาเงินเข้าคลัง “รัฐบาลเศรษฐา” ตั้งเป้า 5 ปี รีดรายได้ 15 ล้านล้าน

29 พ.ค. 2567 | 08:55 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ค. 2567 | 09:05 น.

ผ่าแผนการหาเงินเข้าคลัง “รัฐบาลเศรษฐา” ภายใต้แผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับใหม่ กำหนดเป้าหมายรายได้รัฐบาลสุทธิ ตั้งแต่ปี 2567 – 2571 ต้องจัดเก็บให้ได้อย่างน้อย 15 ล้านล้านบาท

KEY

POINTS

  • รัฐบาลผ่านการทบทวน แผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับใหม่ ปีงบประมาณ 2568 – 2571 จัดทัพงบประมาณเตรียมพร้อมสนองนโยบายเต็มพิกัด
  • ภายใต้แผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับใหม่ ปีงบประมาณ 2568 – 2571 กำหนดรายละเอียดกรอบวงเงินงบประมาณ และการจัดหารายได้ไว้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5%
  • แผนการจัดหารายได้ กำหนดเป้าหมายประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิไว้ชัดเจน โดยตั้งแต่ปี 2567 – 2571 ต้องจัดเก็บรายได้อย่างน้อย 15.3 ล้านล้านบาท

การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ฉบับรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จัดทัพรื้อกรอบวงเงินครั้งใหญ่อย่างน้อย 2 ปีงบประมาณ นั่นคือ ปีงบประมาณ 2567-2568 โดยมีเป้าหมายให้ตอบสนองต่อนโยบายหาเสียง โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet 

ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา “แผนการคลังระยะปานกลาง” ซึ่งถูกรื้ออีกครั้งเป็นรอบที่ 2 ก็ได้ผ่านการเห็นชอบไปเป็นที่เรียบร้อย โดยปรับเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เพิ่มขึ้นอีก 1.22 แสนล้านบาท และเตรียมตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 โดยจะเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติในระยะเวลาอันใกล้นี้ 

ใจความสำคัญของแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับใหม่ ปีงบประมาณ 2568 - 2571 นอกเหนือจากการกำหนดกรอบวงเงินรายจ่ายเพิ่มเติม และมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2567 เพิ่มขึ้นอีกกว่า 1.12 แสนล้านบาทแล้วนั้น เนื้อหาภายใต้แผนยังกำหนดรายละเอียดของการจัดเก็บรายได้ ที่ภาครัฐจะต้องหาทางรีดให้ได้ตามเป้าหมาย 

โดยในปีงบประมาณ 2567 ได้ตั้งเป้าหมายประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ เพิ่มขึ้นอีก 1 หมื่นล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิมภายใต้แผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับเดิมที่ประมาณการไว้ 2,787,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2,797,000 ล้านบาท ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงที่คาดเดาได้ไม่ง่ายนักว่าในอีก 4-5 ปีจากนี้จะเกิดเหตุการณ์อะไรไม่ปกติเข้ามากระทบเศรษฐกิจไทยบ้าง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ภาพประกอบข่าว การหารายได้ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ภายใต้แผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับใหม่ ปีงบประมาณ 2568 - 2571

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้แสดงความกังวลถึงความไม่แน่นอน โดยการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางรอบนี้นั้น ธปท. เตือนว่า ต้องโฟกัส "พื้นที่ทางการคลัง" (policy space) ในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลอาจลดลงจากรายได้ของรัฐบาลที่มีความเสี่ยงไม่เป็นไปตามเป้า และรายจ่ายรัฐบาลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่าคาด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อฐานะเงินคงคลังและการบริหารกระแสเงินสดของรัฐบาลในระยะต่อไปได้

ทั้งนี้ ธปท. มองอีกว่า ในระยะต่อไปการดำเนินนโยบายด้านการคลัง รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเสถียรภาพการคลัง ผ่านการลดการขาดดุลงบประมาณ โดยการเพิ่มรายได้อย่างเป็นรูปธรรม และใช้นโยบายภาษีที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้เท่าที่จำเป็น

สำหรับการจัดหารายได้ของรัฐบาลนั้น ฐานเศรษฐกิจได้ตรวจสอบรายละเอียดของแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิไว้ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 - 2571 หน่วยงานต่าง ๆ ต้องจัดเก็บรายได้รวมกันเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกือบ 5% หรือรวมกัน 5 ปีต้องจัดเก็บรายได้อย่างน้อย 15.3 ล้านล้านบาท โดยมีรายละเอียดแยกเป็นรายปี ดังนี้

 

ภาพประกอบข่าว แผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับใหม่ ปีงบประมาณ 2568 - 2571 รับนโยบายของรัฐบาล

ปีงบประมาณ 2567

ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ : 2,797,000 ล้านบาท สูงกว่าการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2566 จำนวน 130,192 ล้านบาท หรือ 4.9% 

ที่มาของรายได้ : ประมาณการรายได้ของกรมสรรพากรขยายตัวตามสมมติฐานเศรษฐกิจและฐานการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2566 ขณะที่ประมาณการรายได้ของกรมสรรพสามิต กรมธนารักษ์ และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก เนื่องจากในปีงบประมาณ 2566 มีมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 

ประกอบกับในปีงบประมาณ 2567 มีการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจบางส่วนเหลื่อมมาจากปีงบประมาณ 2566 และกรมธนารักษ์จะมีรายได้พิเศษจากค่าที่ดินราชพัสดุตกอยู่ภายใต้ภาระอสังหาริมทรัพย์ (ค่ารอนสิทธิ์) 

อย่างไรก็ดี ประมาณการรายได้ของกรมศุลกากรต่ำกว่าปีก่อน เนื่องจากสมมติฐานค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ประกอบกับในปีงบประมาณ 2566 มีรายได้พิเศษจากการชำระอากรขาเข้าย้อนหลัง ตามคำพิพากษาคดี ขณะที่ประมาณการรายได้ของส่วนราชการอื่นต่ำกว่าปีก่อน เนื่องจากในปีงบประมาณ 2566 มีรายได้พิเศษเป็นสำคัญ

ปีงบประมาณ 2568

ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ : 2,887,000 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 90,000 ล้านบาท หรือ 3.2% 

ที่มาของรายได้ : ประมาณการรายได้ของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากรขยายตัวตามสมมติฐานเศรษฐกิจ โดยประมาณการการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและส่วนราชการอื่นสูงกว่าปีก่อนเพียงเล็กน้อย เนื่องจากปัจจัยฐานในปีงบประมาณ 2567 ที่มีการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจบางส่วนเหลื่อมมาจากปีงบประมาณ 2566 

รวมทั้งมีรายได้พิเศษจากการนำส่งเงินเหลือจ่ายจากเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เป็นรายได้แผ่นดิน ขณะที่ประมาณการรายได้ของกรมธนารักษ์ต่ำกว่าปีก่อน เนื่องจาก ในปีงบประมาณ 2567 มีค่ารอนสิทธิ์ที่ดินราชพัสดุ

ปีงบประมาณ 2569 - 2571

ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ : ปีงบประมาณ 2569 อยู่ที่ 3,040,000 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 5.3%, ปีงบประมาณ 2570 อยู่ที่ 3,204,000 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 5.4% และ ปีงบประมาณ 2571 อยู่ที่ 3,394,000 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 5.9%

ที่มาของรายได้ : การประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2569 - 2572 ข้างต้น เป็นประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิที่คำนวณจากสัดส่วนรายได้รัฐบาลสุทธิต่อ GDP เพื่อเป็นเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ในระยะปานกลาง ซึ่งหน่วยงานจัดเก็บรายได้แต่ละแห่งจะผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้อย่างต่อเนื่อง 

รวมถึงปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลให้เหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจ เพื่อให้การจัดเก็บรายได้ ของรัฐบาลมีการเติบโตสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและคงสัดส่วนรายได้รัฐบาลสุทธิต่อ GDP ให้ใกล้เคียงกับสัดส่วนในปัจจุบัน 

ทั้งนี้ ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิในระยะปานกลางจะแปรผันตามสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งหากการขยายตัวของเศรษฐกิจแตกต่างไปจากสมมติฐานเดิม อาจต้องมีการทบทวนประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป