“จุลพันธ์” สั่งสรรพสามิตสร้างมาตรฐาน ราคากลาง “คาร์บอนเครดิต”

30 พ.ค. 2567 | 09:21 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2567 | 09:21 น.

“จุลพันธ์” รมช.คลัง มอบนโยบายสรรพสามิต ขับเคลื่อน ESG สร้างมาตรฐานราคากลางคาร์บอนเครดิต แก้กฎหมาย “สุราชุมชน” เอื้อทุกกลุ่ม สนับสนุนเป็นซอฟต์พาวเวอร์

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มอบนโนบายกรมสรรพสามิตขับเคลื่อนในเรื่องสิ่งแวดล้อม (ESG) โดยที่ผ่านมาสรรพสามิตทำได้ตรงโจทย์ที่สุด ทั้งในเรื่องการจัดเก็บภาษีความหวาน และการออกแพ็คเกจมาตรการสนับสนุนภาษีรถอีวี ฉะนั้น จึงต้องการให้กรมสรรพสามิตสร้างมาตรฐาน ราคากลางคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นกลไกภาคบังคับให้เอกชนสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากขณะนี้ต่างประเทศ เช่น ยุโรป ได้ให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

“จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจที่ผ่านมา ได้มีการคุยกับถึงประเด็นให้ 3 กรมจัดเก็บภาษี ช่วยคิดและวางกรอบนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ตนก็ได้มอบนโยบายแนวทางเดียวกันคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

ซึ่งกรมสรรพสามิต ก็ให้ดูในเรื่องของการกระตุ้นระยะสั้น ว่าจะทำอะไรได้บ้าง ส่วนในระยะกลาง และระยะยาว คือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ทำให้มีการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และมีการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ ซึ่งภาษีของกรมสรรพสามิตเป็นกลไกที่ตอบโจทย์ที่สุด”

ขณะเดียวกัน ได้มอบนโยบายกรมสรรพสามิต พิจารณาปรับแก้ไขกฎหมายกำกับทั้งหมด สำหรับสุราชุมชน  เพื่อให้กลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ เอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนสามารถอยู่ใน Value Chain นี้ได้ รวมทั้งต้องการผลักดันให้สุราไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ สร้างจุดขายให้กับต่างชาติที่เขามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ฉะนั้น ส่วนนี้สรรพสามิตสร้างอีโคซีสเต็มให้เกิดขึ้น

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ยังได้มอบนโยบายเรื่องการปราบปรามสินค้าเถื่อน โดยกรมสรรพสามิตรายงานว่า ช่วง 8-9 เดือนที่ผ่านมา มีการเข้มงวดตรวจจับสินค้าเป็นอย่างมาก ส่งผลให้มียอดจับกุมเพิ่มขึ้นถึง 10% อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่ยังมีปัญหา ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในพิกัดที่สามารถดำเนินการได้ ส่วนนี้ได้มอบนโยบายให้กรมไปศึกษาเพื่อหาทางออกเพิ่มเติม

ส่วนการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตนั้น คาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 2567 นี้ อาจจะทำไม่ได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลได้ช่วยบรรเทาภาระของประชาชน ผ่านการลดภาษีน้ำมัน และพลังงาน ซึ่งดำเนินการผ่านกลไกของกรมสรรพสามิต ทำให้สูญเสียรายได้เฉลี่ยเดือนละ 20,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กรมสรรพสามิตได้รายงานว่าจะมีการเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ต่อไป

"ยืนยันว่าการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตที่ต่ำกว่าเป้าหมาย ไม่กระทบเสถียรภาพทางการคลัง ซึ่งมีบางกรมที่จัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมาย หรือบางกรมทำได้เกินเป้าหมาย ซึ่งเราสามารถบริหารจัดการได้ และขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็อยู่ระหว่างทบทวนเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของกรมภาษี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากที่สุด”

สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้นั้น ที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้ดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนจากมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินแพ็คเกจ EV 3.5 และมาตรการสนับสนุนอีวีระยะถัดไป จะเพิ่มรถอีวีขนส่ง กระบะ และบัส รวมทั้งจะมีการสนับสนุนภาษีแบตเตอรี่ โดยในเรื่องแบตเตอรี่นั้น จะสามารถดึงโรงงานแบตเตอรี่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศได้