นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการออกใบอนุญาตใช้เรือ และการประกันภัยเรือสำหรับโดยสาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยกำหนดเอกสารและหลักฐานเท่าที่จำเป็นและสอดคล้องกับสภาพการณ์ เพื่อเป็นการลดภาระและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เนื่องจากปัจจุบัน มีการกำหนดเงื่อนไขให้เจ้าของเรือจะต้องขอหนังสือรับรองจากกรมประมงก่อน จึงจะทำการขอใบอนุญาตใช้เรือจากกรมเจ้าท่าได้
ทั้งนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีคราวเดียวกัน สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) ได้เสนอรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับผุ้ประกอบการประมงและกิจการประมงทั้งระบบ ให้รับทราบด้วย
นางรัดเกล้า กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อสังเกตไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการในภาพรวมให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอ ครม. ต่อไป
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการควบคุมไม่ให้มีการใช้เรือประมงโดยผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ที่ปัจจุบันสถาณการณ์ได้คลี่คลายลง ดังนั้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการด้านการบริหารจัดการ ลดภาระ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้ใช้เอกสารและหลักฐานเท่าที่จำเป็นและสอดคล้องกับสภาพการณ์ และพร้อมรับฟัง ศึกษา และพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมจากทุกฝ่าย ช่วยเสริมศักยภาพการดำเนินงาน ให้มีประสิทธิภาพอย่างสูงสุดต่อไป” นางรัดเกล้าฯ กล่าว
สำหรับผลการศึกษาตามกรอบการพิจารณา 4 ขั้นตอน ดังนี้ 1. ศึกษาปัญหาผลกระทบจากการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย 2. ศึกษากฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมง จำนวน 19 ฉบับ โดยได้ข้อยุติแล้ว ซึ่งไม่จำเป็นต้องแก้ไข 4 ฉบับ ได้ข้อยุติแล้ว โดยต้องมีการแก้ไขปรับปรุง 9 ฉบับ ต้องออกประกาศใหม่ 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการวางประกันแทนการยึดเครื่องมือทำการประมงหรือกักเรือประมง พ.ศ. ... และประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง การงดจดทะเบียนเรือประมงเป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 6) พ.ศ. ... และอยู่ระหว่างหารือร่วมกัน 4 ฉบับ
3. ศึกษากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมง โดยคณะกรรมาธิการได้กำหนดกรอบการพิจารณา 4 ประเด็นหลักประกอบด้วย ประเด็นเกี่ยวกับเรือไทย การเดินเรือ และคนประจำเรือ,ประเด็นเกี่ยวกับแรงงานประมง,ประเด็นเกี่ยวกับการรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและความมั่นคงทางทะเล และประเด็นเกี่ยวกับการส่งออก นำเข้า และการตรวจสอบสินค้าประมง
4.ศึกษากฎหมายว่าด้วยการประมง โดยมีข้อสังเกตต่อแนวทางต่างๆ สรุปภาพรวมสำคัญ อาทิ รัฐควรพิจารณาภาพรวมการแก้ไขกฎหมาย ควรปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพเรือประมง เพื่อลดการใช้แรงงาน ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของ PIPO ควรมุ่งเน้นการสนับสนุนเครื่องมือที่ทันสมัยและยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรการป้องกัน ติดตาม ตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวังเรือที่ไม่ใช่เรือประมงไทยเข้ามาทำการประมงในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และควรดำเนินการเพื่อป้องกันหรือยุติปัญหาการนำเข้าสินค้าประมงที่มีความเสี่ยงไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายและสวมสิทธิเป็นสินค้าไทย เป็นต้น