ฤดูทุเรียนปี 67 ผลผลิตคาดลด18% ดันราคาพุ่ง แต่รายได้คนปลูกเพิ่มเพียง 0.3%

16 มิ.ย. 2567 | 11:15 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2567 | 11:15 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ฤดูทุเรียนปี 67 คาดผลผลิตลด 18% (YoY) ลดลงมากสุดในรอบ 15 ปี แต่แม้ราคาพุ่งจะสูงถึง 22% รายได้เกษตรกรกลับเพิ่มเพียง 0.3% YoY

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ฤดูทุเรียนอยู่ใน เม.ย.-ส.ค. 2567 คาดว่ามีผลผลิตรวมปีนี้ลดลง 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เริ่มจากภาคตะวันออกก่อนที่เผชิญเอลนีโญ ฉุดผลผลิตทุเรียนในฤดูภาคตะวันออกลดลง 14%YoY ขณะที่ทุเรียนภาคใต้ที่จะออกสู่ตลาดตามมา คาดผลผลิตจะลดลงมากขึ้นอีกอยู่ที่ 25%YoY จากฝนน้อยกระทบการติดดอกออกผล และถูกซ้ำเติมด้วยฝนทิ้งช่วงขณะเก็บเกี่ยว 


 

ฤดูทุเรียนปี 67 ผลผลิตคาดลด18% ดันราคาพุ่ง แต่รายได้คนปลูกเพิ่มเพียง 0.3% ทั้งนี้ ภาคตะวันออก ที่มักจะมีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดในเดือน เม.ย แต่ในช่วงราว 4 เดือนแรกของปีนี้ต้องเผชิญเอลนีโญซึ่งก่อให้เกิดความร้อนแล้ง จึงทำให้ทุเรียนติดดอกออกผลน้อยลง และผลทุเรียนมีน้ำหนักเบา แม้เดือน พ.ค. กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปริมาณฝนมากขึ้น แต่ภาพรวมทั้งปีคาดผลผลิตจะลดลง 14%YoY หรือมีผลผลิตออกสู่ตลาดราว 0.65 ล้านตัน 

ขณะที่ ภาคใต้  ทุเรียนจะออกสู่ตลาดตั้งแต่ มิ.ย. ยังมีแนวโน้มว่าผลผลิตจะเสียหายมากขึ้นอีก จากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากต้องเผชิญปริมาณฝนที่ลดลงจากปีก่อนตลอดช่วงการเจริญเติบโตของทุเรียน ตั้งแต่ระยะติดดอกออกผล และยังถูกซ้ำเติมด้วยฝนทิ้งช่วงใน ก.ค.ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเป็นระยะเก็บเกี่ยว ทำให้โดยรวมแล้วทั้งฤดูทุเรียนภาคใต้ปี 2567 อาจมีผลผลิตลดลงแรงถึง 25%YoY หรือมีผลผลิตออกสู่ตลาดราว 0.31 ล้านตัน
 

ดังนั้น ในภาพรวมผลผลิตทุเรียนรวมในฤดูปี 2567 (ทั้ง 2 ภาค) อาจลดลง 18% YoY หรือมีผลผลิตออกสู่ตลาดรวมราว 0.96 ล้านตัน  นับเป็นผลผลิตทุเรียนที่ลดลงมากที่สุดในรอบ 15 ปี ขณะที่ราคาเฉลี่ยทุเรียนปีนี้อาจปรับสูงขึ้น 22%YoY แต่ภาพรวมรายได้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในฤดูปี 2567 อาจเพิ่มขึ้นได้เพียง 0.3% จากผลผลิตรวมที่ลดลง 18% YoY

ฤดูทุเรียนปี 67 ผลผลิตคาดลด18% ดันราคาพุ่ง แต่รายได้คนปลูกเพิ่มเพียง 0.3%

แบ่งเป็นรายได้เกษตรกรภาคตะวันออกเพิ่มขึ้น 4%YoY และรายได้เกษตรกรภาคใต้ลดลง 8%YoY ทั้งนี้ เป็นรายได้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนที่ยังไม่หักต้นทุนการผลิต โดยมีต้นทุนการผลิตที่สำคัญในการจัดหาน้ำช่วงเอลนีโญ เช่น ต้นทุนการซื้อน้ำมารดต้นทุเรียน เครื่องปั๊มน้ำ/เครื่องสูบน้ำ/สปริงเกอร์ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ซึ่งหากนับรวมต้นทุนการผลิตด้วย ก็จะทำให้รายได้เกษตรกรสุทธิของผู้ปลูกทุเรียนเผชิญแรงกดดันมากยิ่งขึ้น