มติครม. เห็นชอบจัด "ครม.สัญจรโคราช" 1-2 กรกฎาคมนี้

18 มิ.ย. 2567 | 08:05 น.

ครม.ไฟเขียว นครราชสีมา สถานที่จัดการประชุมครม.สัญจร ครั้งที่ 4/67 วันที่ 1-2 กรกฎาคม มอบ อนุทิน ชาญวีรกูล เจ้าภาพ - รัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจราชการ 4 จังหวัด อีสานตอนล่าง

วันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบกำหนดจัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2567 ณ จังหวัดนครราชสีมา และติดตามการตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ระหว่างวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2567 

นางสาวเกณิกากล่าว่า สำหรับประเด็นตรวจราชการสำคัญประกอบด้วย 1.การส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การยกระดับเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การบริการ และการท่องเที่ยว 2.การยกระดับขีดความสามารถของภาคเกษตร ภาคผลิตและภาคอุตสาหกรรม 3.การยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล 4.การส่งเสริม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค และ 5.การเสริมสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และส่งเสริมการดำเนินการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส

นางสาวเกณิกากล่าวว่า โดยมีบัญชามอบหมายภารกิจ อาทิ มอบหมายครม.ลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายและปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ และให้ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวบรวมข้อมูลการลงพื้นที่ของคณะรัฐมนตรี

นางสาวเกณิกากล่าวว่า มอบหมายนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ซึ่งกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่ดังกล่าวเป็นประธานการประชุมบูรณาการการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ร่วมกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัดต่อที่ประชุม ครม. และให้ สศช. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) สำนักงบประมาณ และกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นฝ่ายเลขานุการ

นางสาวเกณิกากล่าวว่า ให้ สลค. เตรียมสถานที่จัดประชุมคณะรัฐมนตรี ดำเนินการจัดประชุม ตลอดจนรวบรวม กลั่นกรองข้อเสนอโครงการ/แผนงานสำหรับวาระกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ที่จะนำเสนอในการประชุม ครม. ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีประสานกับศูนย์ดำรงธรรม มท. ในการดูแลการรับเรื่องร้องเรียนและปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ให้กรมประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก และโฆษกกระทรวงดำเนินการประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้แก่ประชาชน