วันที่ 19 มิถุนายน 2567 ที่รัฐสภา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ลุกขึ้นอภิปรายชี้แจงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วงเงิน 3.752 ล้านล้านบาท ว่า วาทะกรรมต่าง ๆ ของพรรคฝ่ายค้าน ไม่เป็นความจริง เรื่องเสียหน้าไม่มีอยู่แล้ว วันนี้รัฐบาลนี้ไม่ได้เป็นรัฐบาลของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เป็นที่เข้าใจและตกลงร่วมกันในการเดินหน้านโยบายของรัฐ เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต
“วันนี้เศรษฐกิจเติบโตในระดับต่ำ ไม่เป็นไปตามศักยภาพ รัฐบาลนี้เน้นในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ เพื่อเติมน้ำในบ่อ เพื่อให้ประชาชนคนไทยสามารถหายใจหายคอได้ สามารถมีกำลังไปต่อยอดการลงทุนอาชีพ ไปบริโภค สร้างสภาพคล่องให้กับประชาชน ไอ้คำว่าคิดไปทำไป ไม่ใช่ แต่ต้องยอมรับความจริงว่าเรารับมรดกมาจากรัฐบาลก่อนหน้า เช่น หนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน เรามีหน้าที่บริหารจัดการเดินหน้าต่อไป”
นายจุลพันธ์กล่าวว่า คำว่า คิดไปทำไป แย้งกับคำว่า เสียหน้าไม่ได้ การปรับเปลี่ยนแต่ละครั้งผมโดนว่านะครับ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ เช่น ลดจำนวนคน ตัดคนที่มีรายได้สูง เงินฝากสูง บางอย่างเราต้องถอยเพื่อเดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง ไม่ใช่ไม่รอบคอบ แต่ต้องใช้คำว่า คิดนอกกรอบ เป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลและสร้างระบบทางการเงินกลางของรัฐกับประชาชน และโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ใช่โครงการเดียวของรัฐบาล ยังมีนโยบายควบคู่กันไปด้วย
นายจุลพันธ์กล่าวว่า มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องพื้นที่ทางการคลัง มีการพูดถึงว่า วันนี้เรากู้เต็มเพดาน ต้องยอมรับครับว่าเรากู้เพิ่มมากขึ้นจริง ๆ ในปีนี้ แต่เป็นเพียงการกู้ที่มากขึ้นเพียงชั่วคราว เพื่อมาดำเนินโครงการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต
นายจุลพันธ์กล่าวว่า มีข้อห่วงใยว่า หากกู้ขาดดุลเต็มเพดาน ในกรณีที่เกิดวิกฤตแล้ว เราจะไม่สามารถรองรับได้ เป็นความเข้าใจกลไกงบประมาณและวินัยการเงินการคลังของประเทศที่ยังคลาดเคลื่อน ในข้อเท็จจริงมีกลไกตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการภาครัฐที่จะสามารถรองรับไม่ว่าจะเกิดวิกฤตการณ์ เรายังสามารถเดินหน้าได้
“ผมขอถามกลับไปว่า วันนี้สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ดีนัก วันนี้เรามีพื้นที่ทางการคลัง เราจะใช้พื้นที่ทางการคลังนี้ลงไปไม่ให้เกิดวิกฤตทำให้เศรษฐกิจเติบโตอยู่ในระดับที่เหมาะสม หรือท่านจะรอให้เศรษฐกิจหนักไปกว่านี้ จนกระทั่งเกิดจุดที่ท่านยอมรับ และก็บอกว่า วันนี้เกิดวิกฤตแล้ว แล้วเราค่อยเอาพื้นที่ทางการคลังนี้ไปซ่อม ซึ่งเราผ่านประสบการณ์เช่นนี้มาหลายครั้ง กลไกลเศรษฐกิจไปถึงจุดที่ตกต่ำ แล้วเราต้องใช้งบประมาณลงไปแก้ไข ต้องใช้มูลค่า ต้องใช้ปริมาณเงินที่ลงไปเยียวยาสูงกว่าอย่างมหาศาล”
นายจุลพันธ์กล่าวว่า สิ่งนี้เป็นแนวทางของรัฐบาลชุดปัจจุบัน วันนี้เรามีความจำเป็นที่จะต้องใช้พื้นที่ทางการคลังนี้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยให้เศรษฐกิจกลับมาหมุนเวียนอีกครั้ง
นายจุลพันธ์กล่าวว่า ในส่วนของงบประมาณที่มีการกล่าวอ้างว่าโดนตัดไป 1.67 แสนล้านบาท ไม่เป็นความจริง ความจริงคือมีคำของบประมาณ 6.5 ล้านล้านบาททุกปี สุดท้ายสำนักงบประมาณมีหน้าที่ไปเรียงลำดับความสำคัญ เป็นการจัดสรรตามขั้นตอนปกติ ไม่มีหน่วยงานใดโดนเบียด โดนบังโครงการ จากการทำดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นโครงการที่เรายอมขาดดุลเพิ่มเติม คือ top up เติมการขาดดุลเข้าไป
"เราต้องการสร้างเม็ดเงินใหม่ ใส่ลงไปในระบบเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากที่สุด เป็นกลไกลที่เราเลือกและยืนยันได้ว่าเม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์เกิดประสิทธิภาพและสามารถหมุนเวียนลงไปในระบบเศรษฐกิจ เกิดการหมุนเวียนหลายรอบ เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด"