วิวาทะ "สถานะการคลัง" ศิริกัญญา ทุบ 5 สถิติใหม่ ความจริง 7 ประการของ "เผ่าภูมิ"

20 มิ.ย. 2567 | 09:03 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มิ.ย. 2567 | 09:36 น.

วิวาทะ "สถานะทางการคลังไทย" ในศีกอภิปรายงบประมาณปี 68 วงเงิน 3.752 ล้านล้าน "ศิริกัญญา" เรคคอร์ด 5 สถิติใหม่ วินัยการเงินการคลัง "เผ่าภูมิ" เปิด ความจริง 7 ประการ-เงินดิจิทัลวอลเล็ต

ศึกอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 3.752 ล้านล้านบาท ยกแรก เข้าสู่วันที่สอง ก่อนจะลงมติรับ-ไม่รับในวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ดุเดือด

โครงการ “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” กลายเป็น “เป้าโจมตี” โดนพรรคฝ่ายค้านอภิปรายถล่มอย่างหนัก เพราะต้องใช้งบประมาณ “ก้อนใหญ่” กว่า 5 แสนล้านบาท 

แสงไฟสปอตไลต์จึงตกไปที่ “สองคีย์แมนเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ที่วัดกึ๋นตำราเศรษฐศาสตร์-ลับฝีปากทางการเมืองอย่างถึงพริกถึงขิง

วิวาทะ \"สถานะการคลัง\" ศิริกัญญา ทุบ 5 สถิติใหม่ ความจริง 7 ประการของ \"เผ่าภูมิ\"

ทุบ 5 สถิติใหม่ทางการคลัง 

“ศิริกัญญา ตันสกุล” สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล : การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ของรัฐบาล ทำให้ประเทศไทยทำลายสถิติใหม่ทางการคลัง 5 เรื่อง 

ทุบสถิติที่หนึ่ง ชำระคืนเงินต้น 4 % ต่องบประมาณ สูงสุดในรอบ 31 ปี นับตั้งแต่ปี 48 สาเหตุตั้งคืนเงินต้นสูงเพื่อขยายกรอบการกู้ขาดดุล 

ในช่วงแรกการจัดงบปี 68 ตั้งวงเงินชำระคืนเงินต้น 1.4 แสนล้านบาท จากวงเงินงบประมาณที่ 3.6 ล้านล้านบาท แต่เมื่อขยายกรอบงบประมาณที่ 3.752 ล้านล้านบาท แทนที่งบชำระเงินต้นจะเท่าเดิมแต่กลับเพิ่มขึ้นและไปลดงบชำระดอกเบี้ยแทน 

“การกู้ขาดดุลมาจากสองส่วน คือ เป็น 20 % ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี บวกกับ 80 % ของงบชำระต้นเงินกู้ ถ้ายังคงชำระต้นเงินไว้ที่ 1.4 แสนล้านบาท กรอบจะไม่พอที่จะทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต” 

กู้เต็มเพดานสองปีติดต่อกัน

ทุบสถิติที่สอง การตั้งงบขาดดุลต่อจีดีพี หรือ การกู้ขาดดุลสูงสุดในรอบ 36 ปี หลายประเทศที่มีปัญหาทางการคลังรื้อรังมีการกำหนดในกฎหมาย ไม่กู้ชดเชยขาดดุลเกิน 3 % ของจีดีพี

สำหรับไทย จากแผนการคลังระยะปานกลาง งบปี 68 ตั้งกู้ชดเชยการขาดดุล 4.5 % ของจีดีพี ปี 67 กู้เพิ่ม เพื่อทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้งบขาดดุลต่อจีดีพีสูง 4.3 % 

“เท่ากับสองปีงบประมาณแล้วที่กู้ชดเชยรายจ่ายน้อยกว่ารายได้สูงเกิน 4 % รัฐบาลเริ่มเสพติดการขาดดุล เพราะเป็นการกู้เต็มเพดานทุกปี ปี 67 และปี 68 กู้ไปถึง 99 % ของเพดานที่เราให้กู้ได้”

ทุบสถิติที่สาม สัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่องบสูงสุดในรอบ 17 ปี หรือ 24 % แต่สาเหตุที่รายจ่ายลงทุนสูงเพราะไปรวมงบเงินดิจิทัลวอลเล็ต มีการตีความว่า 80 % เป็นรายจ่ายลงทุน 

“ถ้าหัก 80 % ของโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตออกจะเหลือ 20.8 % และมีรายจ่ายประจำบางรายการถูกตัด 1.6 แสนล้านบาท ทำให้ได้งบไม่เพียงพอ และถ้าตั้งรายจ่ายประจำตามจริง เต็มจำนวน รายจ่ายลงทุนจะเหลือ 16.4 %”

ทุบสถิติที่สี่ หนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงสุดในรอบ 29 ปี นับตั้งแต่ปี 39 หรือ หนี้สาธารณะ 68.6 % ในปี 70 โดยเพดานหนี้สาธารณะอยู่ที่ 70 % ต่อจีดีพี 

“นี่คือผลของการที่รัฐบาลกู้ชดเชยขาดดุลแบบเต็มแม็กซ์ เต็มเพดานสองปีติด ที่พาเรามาถึงจุดนี้ จุดที่แม้ว่าประเทศจะไม่ได้เจอวิกฤตเศรษฐกิจอะไรเลย เราก็อาจจำเป็นที่จะต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะกันอีกรอบ จาก 70 % เป็นเท่าไหร่ไม่รู้ เพียงเพื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ตโครงการเดียว”

แบกภาระดอกเบี้ย 3.3 แสนล้าน 

ทุบสถิติที่ห้า สัดส่วนดอกเบี้ยต่อรายได้สูงสุดในรอบ 14 ปี หรือ 3.3 แสนล้านบาท และอาจจะทำสถิติใหม่ต่อไปทุกปี ซึ่งจะไปเบียดบังงบประมาณในส่วนอื่น ๆ ในปีต่อๆไป เงินที่จะนำไปใช้พัฒนาประเทศโครงการอื่น ๆ ก็จะน้อยลงไปด้วย เพราะต้องมารับภาระดอกเบี้ย 10 % ซึ่งในช่วงการอภิปรายงบปี 67 อยู่จะอยู่ที่ 11.3 % แต่งบชำระดอกเบี้ยถูกตัดไป ทำให้ในปี 68 ลดลงมาอยู่ 10 % พอดี

สัดส่วนนี้ไม่ได้กำหนดไว้ในกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ แต่เป็นตัวหนึ่งที่บริษัทจัดอันดับเรตติ้งความน่าเชื่อถือดูว่า ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ต้องไม่เกิน 10 % 

“เป็น 5 ตัวชี้วัดของงบประมาณปี 68 ได้ทำลายสถิติไปอย่างสวยงาม แน่นอนว่าอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังทุกประการ แต่ถ้าเกิดขึ้นหลาย ๆ ตัว หลาย ๆ ที่พร้อมกัน และไต่บนเส้น ไต่บนขอบ คือ ภาวะความเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศไม่มีความพร้อม เหมือนคนไม่มีภูมิคุ้มกัน”

วิวาทะ \"สถานะการคลัง\" ศิริกัญญา ทุบ 5 สถิติใหม่ ความจริง 7 ประการของ \"เผ่าภูมิ\"

ความจริง (ไม่หมด) 7 ประการ  

“เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง : มีความจริงที่พูดไม่หมด 7 ประการ 

ประการแรก การพูดถึงรัฐบาลมีวิสัยทัศน์สั้น สายตาสั้น เปลี่ยนจากโครงการ Ignite Thailand เป็น Ignore Thailand ไม่เป็นความจริง 

ตั้งแต่ตอนเลือกตั้งจนกระทั่งตั้งรัฐบาลใหม่ ๆ สิ่งที่เราเห็นมาโดยตลอด คือ ภาวะเศรษฐกิจประเทศเข้าสู่ภาวะที่น่าเป็นห่วง เป็นที่มาว่า ทำไมเราต้องมีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง 

ความจริงจนถึงวันนี้ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นและได้รับการยอมรับเป็นฉันทามติว่าเศรษฐกิจของประเทศปัจจุบันมีปัญหา ต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเม็ดเงินที่เหมาะสมในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ควรอยู่ในระดับที่รัฐบาลเสนอช่วงเลือกตั้ง

“นั่นคือสิ่งที่เราเห็น แต่นั่นคือสิ่งที่ท่านมองข้าม นั่นคือสิ่งที่เรามองขาด แต่นั่นคือสิ่งที่ท่านมองไม่เห็น และนั่นคือสิ่งที่เราพยายาม Ignite ประเทศไทย แต่นั่นคือสิ่งที่ท่าน Ignore ประเทศไทยต่างหาก”

หนี้ครัวเรือนอันตรายกว่าหนี้สาธารณะ 

ประการที่สอง หนี้สาธารณะ ปัจจุบันหนี้สาธารณะของประเทศไทยอยู่ที่ 63.78 % ต่อจีดีพี ต้องดูไปที่ไส้ในของหนี้สาธารณะ ราว 10 % เป็นหนี้สาธารณะที่ไม่ได้เป็นภาระกับรัฐบาล เช่น หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เพราะมีการจ่ายหนี้ที่ไม่ใช่แหล่งงบประมาณ ไม่ใช่ภาระของงบประมาณ 

“หนี้ครัวเรือนอันตรายกว่าหนี้สาธารณะเยอะ เราต้องใช้ก้อนหนี้สาธารณะเพื่อที่จะมาชดเชย จุนเจือความเดือดร้อนของประชาชนในส่วนของหนี้ครัวเรือน ต้องบาลานซ์สองเสาให้ได้ คือสิ่งที่ควรจะทำ”

หนี้สาธารณะสูงเกินไปหรือไม่ มีกฎหมายกำกับอยู่ หนี้สาธารณะยังอยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 70 % ต่อจีดีพี ภาระหนี้ต่อการประมาณการรายได้ต้องไม่เกิน 35 % ปัจจุบันอยู่ที่ 19 % 

หนี้สาธารณะสกุลเงินต่างประเทศต้องน้อยกว่า 10 % ปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 % หนี้สาธารณะสกุลเงินต่างประเทศต่อการส่งออกและบริการต้องน้อยกว่า 5 % ปัจจุบันอยู่ที่ 0.05 %

กู้ขาดดุลดลงเหลือ 2.89 % ในปี 70 

ประการที่สาม การเสพติดการขาดดุลจริงหรือไม่ แผนการคลังระยะปานกลาง รัฐบาลระบุไว้ชัดเจนว่า การขาดดุลในปีต่อ ๆ ไป ควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ และเรารักษาการขาดดุลงบประมาณให้อยู่ในเกณฑ์อย่างไร 

การขาดดุลงบประมาณในปีนี้ 4.49 % ของตัวจีดีพี แต่จะลดลงเหลือ 3.48 % ในปี 68 ลดลงเหลือ 3.28 % ในปี 69 และในที่สุดเข้าสู่กรอบต่ำกว่า 3 % หรือ 2.89 % ในปี 70 

“ไม่ใช่การเสพติด ถ้าเป็นการเสพติดต้องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต้องคงอยู่ในระดับสูง แต่อันนี้เป็นตัวเลขที่อยู่ในแผนการคลังระยะปานกลาง และยังมีวาทะกรรมเกี่ยวกับการเสพติดการขาดดุลงบประมาณ ตรงข้ามกับข้อเท็จจริง”

ประการที่สี่ การชำระเงินต้นน้อย ในงบประมาณปี 68 มีการตั้งงบประมาณใช้หนี้ชำระเงินต้น 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4 % ชนเพดาน ไม่สามารถตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้เงินต้นสูงกว่านี้ได้ เป็นความจริงที่พูดไม่หมด จะสรุปว่ารัฐบาลมีการตั้งชำระหนี้เงินต้นเต็มเพดานและสูงที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ในกรอบที่มีอยู่

เศรษฐกิจโลกดอกเบี้ยขาลง  

ประการที่ห้า ภาระดอกเบี้ย การชำระหนี้ของรัฐบาลน้อยหรือไม่ ในงบประมาณปี 68 ตั้งชำระดอกเบี้ย 2.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 67 จำนวน 3.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 14 % 
สิ่งที่จะต้องดูภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดในอนาคตต้องดู อัตราดอกเบี้ย

นโยบายที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ คำตอบคืออยู่ “ขาลง” 

“ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ที่บอกว่าไม่เกิน 10 % ไม่อยู่ในกฎหมาย และเครดิตเรตติ้งไม่ได้ดูจากตัวเลขภาระดอกเบี้ยโดด ๆ เขาดูภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นเอาไปทำอะไร เขาดูกว้างกว่านั้น เราไม่สามารถสรุปได้ว่า ตัวเลขหนึ่งตัวจะทำให้ประเทศมีปัญหาเครดิตเรตติ้ง เป็นการมองมิติเดียว”

ประการที่หก มีการพูดถึงรัฐบาลปั้นตัวเลขจีดีพี (โกงจีดีพี) ในงบประมาณสูงกว่าประมาณการ เป็นความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นซ้ำ เป็นตัวเลข nominal GDP กับ real GDP ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

ประการที่เจ็ด-ประการสุดท้าย มีการพูดถึงเงินดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นพายุหมุนที่ซัดไปสู่หลุมดำ เพราะมีสินค้าเข้ามาจากประเทศจีน และ e-commerce แต่ เงื่อนไขแรก ๆ ของเงินดิจิทัลวอลเล็ตต้องเป็นการใช้จ่ายแบบ face to face ไม่ใช่การซื้อออนไลน์ 

“นี่คือสิ่งที่อยากจะชี้แจงให้ทราบในเรื่องของรายละเอียด วิธีการงบประมาณ ที่จะได้รับความจริงตรงกัน ความจริงที่เต็มจำนวน ความจริงที่ 100 %”