ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ประกาศดังกล่าวจะมีผลใช้ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่มีราคาตั้งแต่ 1 บาท ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎคม 2567 เป็นต้นไป
สำหรับเหตุผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าตั้งแต่ 1 บาทนั้น โดยรัฐบาลมีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในการขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคระหว่างผู้ขายในต่างประเทศที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มกับผู้ขายในประเทศซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกับ ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งให้กำหนดราคาขั้นต่ำของของที่นำเข้าแต่ละรายเพื่อให้คุ้มค่ากับการจัดเก็บอากรศุลกากร
ดังนั้น ผู้นำเข้าของต้องปฎิบัติตามพิธีการที่อธิบดีกรมศุลกากรประกาศกำหนด โดยประกาศนี้ ให้บังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 15 วันนับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 หรือ นับตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ประกาศดังกล่าวลงนามนายพิชัย ชุณหวชริ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ กรมศุลกากรจะเป็นผู้จัดเก็บภาษี VAT ดังกล่าวจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 หลังจากนั้น กรมสรรพากรจะดำเนินการจัดเก็บเอง โดยขณะนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการแก้ไขประมวลรัษฎากรเพื่อรองรับ
สำหรับการจัดเก็บแวตนำเข้าสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาทดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาข้อได้เปรียบจากสินค้าจีนราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาดไทย และการจงใจหลีกเลี่ยงภาษีจากผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
ที่ผ่านมา สินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี VAT เนื่องจาก ประมวลรัษฎากรได้เขียนผูกไว้กับกฎหมายศุลกากร ที่ให้ยกเว้นการเก็บVAT ในสินค้านำเข้าที่กรมศุลกากรยกเว้นอากรตามประเภท 12 ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530
ซึ่งหนึ่งในสินค้าที่ได้รับการยกเว้นอากร คือ สินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้า ดังนั้น หากจะต้องจัดเก็บ VAT ในสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท กรมฯจะต้องมีการปรับปรุงข้อกฎหมาย เพื่อให้สามารถจัดเก็บแวตสำหรับสินค้าดังกล่าวได้
ที่มา : ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท