“จุลพันธ์” ยันปลดล็อกต่างชาติ ถือครองอสังหา ไม่ใช่นโยบายขายชาติ

25 มิ.ย. 2567 | 07:46 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มิ.ย. 2567 | 08:27 น.

"จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง" ยันขยายเวลา “ต่างชาติ” ถือครองห้องชุด 75%-เช่าที่ดิน 99 ปี ไม่ใช่นโยบายขายชาติ ระบุเปิดช่องจูงใจต่างชาติเข้าไทย พัฒนาอุตสาหกรรม ไม่หวั่นก้าวไกลฟ้องโครงการดิจิทัล วอลเล็ต

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงการแก้กฎหมายให้ชาวต่างชาติเช่าที่ดินเพิ่มเป็น 99 ปี และซื้อคอนโดมิเนียมเพิ่มเป็น 75% ว่า การดำเนินเรื่องดังกล่าว เป็นหนึ่งในความคิดที่ต้องการกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการหมุนเวียนมากขึ้น และไม่ได้เป็นการให้สิทธิ์ขาดกับต่างชาติแต่อย่างใด โดยปัจจุบันสิทธิ์ของการเช่าก็อยู่ที่ 30 ปี และในกรณีพื้นที่พิเศษขยายเป็น 50+50 ปี

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการแก้กฎหมายนั้น เป็นการเปิดช่องจูงใจให้ต่างชาติเข้ามามากขึ้น ซึ่งข้อเสนอการมีสิทธิเช่าที่ดิน 99 ปีนั้น จะต้องให้หน่วยงานที่ข้อเกี่ยวข้องทำข้อเสนอมาก่อน ส่วนสิทธิ์ เช่น คอมโดนั้น ได้มีการเพิ่มสัดส่วนเรื่องการถือครอง แต่ไม่ได้มอบสิทธิ์การออกเสียงของนิติบุคคล ฉะนั้น จึงมองว่าไม่น่ามีผลกระทบต่อสิทธิ์สภาพบนพื้นดินของเรา

“ตอนนี้ยังเป็นข้อเสนอให้ศึกษา ต้องรอฟังว่ากระทรวงมหาดไทยที่รับโจทย์ไปแล้ว และไปดูผลกระทบอย่างรอบด้าน และจะกลับมารายงานข้อสรุปในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนมองว่าเป็นนโยบายขายชาตินั้น ยืนยันว่า ไม่ใช่ พื้นที่สิทธิ์สภาพ และสิทธิ์อาณาเขตเราก็ไม่ได้หายไป เป็นเพียงการปรับเงื่อนไขถือครองให้เกิดแรงจูงใจ ไม่ใช่ว่าต่างชาติเขามาถือครองแล้วจะเปลี่ยนจากคอนโดไปเป็นโรงแรม หรือเปลี่ยนเป็นอาคารประเภทอื่น”

ทั้งนี้ ประเทศไทยในปัจจุบัน มีการกระตุ้นการลงทุน การจ้างงานภายในประเทศในระดับที่ใช้ได้ อย่างไรก็ตาม การที่จะดึงต่างชาติเข้ามาบางส่วนก็เป็นประโยชน์ และไม่มีผลกระทบต่อการจ้างงานของคนไทย ซึ่งต้องการสร้างให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ระดับโลก มีการดึงดูดนักท่องเที่ยว คนต่างประเทศที่มีสกิลจำเพาะเพื่อมาพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยในด้านต่างๆ โดยเปิดรับการลงทุน เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น

ส่วนปัญหาที่มองว่าหากต่างชาติเข้ามาซื้อมากขึ้น อาจส่งผลให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นนั้น มองว่า ปัญหาไม่ใช่เรื่องราคาแพงหรือไม่ แต่ปัญหา คือ เริ่มมีอาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ทำให้ซัพพลายที่มีอยู่ไม่สามารถเปลี่ยนถ่านโอนได้ ฉะนั้น กลไกการแก้กฎหมายดังกล่าว นอกจากจะช่วยกระตุ้นแล้ว เรายังจะมาดูเรื่องสินเชื่อ ช่วยให้คนไทยเข้าไปถือครองได้

ขณะที่กรณีพรรคก้าวไกลขู่จะฟ้องศาลปกครองถึงการดำเนินโครงการดิจิทัล วอลเล็ตนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่มีความกังวลเรื่องดังกล่าว เนื่องจากดำเนินการไปตามข้อกฎหมาย ทั้งนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณางบประมาณปี 68 ซึ่งมีข้อสงสัยว่าพรรคก้าวไกจะฟ้องในประเด็นอะไร

อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าพรรคฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับโครงการดิจิทัล วอลเล็ต มองว่าทำให้การขาดดุลเพิ่มเติม แต่เราได้เรียนในที่ประชุมสภาผู้แทนฯ และเวทีต่างๆ ว่า กลไกทางด้านงบประมาณของภาครัฐไม่ได้อ่อนแอขนาดนั้น ยังมีกลไกรองรับไม่ว่ากรณีใดๆ ที่สามารถผลักดันให้เดินหน้าประเทศไปได้อย่างราบรื่น

“เราเคยผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง สุดท้ายเราก็ผ่านไปได้ โดยกลไกพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังไม่ได้พัฒนามาเพียง 3-5 วัน แต่ผ่านการใช้งานมาแล้วตั้งแต่ความเป็นรัฐ จนมาถึงวันนี้ มีการปรับปรุงตัวเองในแง่ข้อกฎหมาย กระทั่งมาถึงจุดนี้มีความรัดกุม ยืนยันว่า การเดินหน้าความเป็นรัฐไม่ว่ากรณีใดๆ เดินหน้าได้ 100% ส่วนกรณีไม่ชอบ และจะไปยื่นฟ้องศาลนั้น มองว่าไม่มีเหตุ ตนก็อยากจะรู้เช่นเดียวกันว่าจะใช้ประเด็นใดในการไปยื่น”