คลังสรุปผลศึกษา “ยุบร้านค้า Duty Free ขาเข้า” ใช้จ่ายในประเทศคุ้มกว่า

27 มิ.ย. 2567 | 08:50 น.

กระทรวงการคลัง ศึกษาแนวทางการ ยุบร้านค้า Duty Free ขาเข้า สนามบิน ดึงนักท่องเที่ยวใช้จ่ายในประเทศ ชี้คุ้มค่ากว่า โดยหากหยุด 1 ปี นักท่องเที่ยวควักเงินใช้จ่ายเพิ่ม 750 บาท/คน/ทริป กระตุ้น GDP ได้ รอชงครม.

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลัง ได้จัดทำแนวทางการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากร หรือ "ร้านค้า Duty Free ขาเข้า" ของผู้ประกอบการ โดยสรุปผลการศึกษาผลประโยชน์และผลกระทบของการหยุดการดำเนินการ ในระยะเวลา 1 ปี เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

สำหรับผลการศึกษาแนวทางการยุบร้านค้า Duty Free ขาเข้าที่บริเวณสนามบินนั้น ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ได้จัดเตรียมรายงานสรุปผลการศึกษาเพื่อเสนอต่อที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 รับทราบแล้ว แต่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เสนอขอให้เลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ออกไปก่อน และจะนำมาเสนอใหม่อีกครั้ง

โดยขณะนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือแจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อรับทราบมติครม. ที่เสนอขอเลื่อนการพิจารณาแนวทางการยุบร้านค้า Duty Free ขาเข้าที่บริเวณสนามบิน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับสาระสำคัญของเรื่องแนวทางการยุบร้านค้า Duty Free ขาเข้า ที่บริเวณสนามบิน กระทรวงการคลัง ระบุว่า เป็นผลสืบเนื่องมาจาก มติครม. เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ได้เห็นชอบหลักการการดำเนินมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย 

พร้อมทั้งให้กระทรวงการคลังพิจารณาความเหมาะสมในการยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า รวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้านค้า ปลอดอากรสำหรับผู้โดยสารขาเข้า เพื่อส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศ

ปัจจุบันกระทรวงการคลัง ได้ศึกษาผลประโยชน์และผลกระทบของการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อขายสำหรับ "ร้านค้า Duty Free ขาเข้า" เสร็จสิ้นแล้ว โดยมีรายละเอียดผลกระทบในด้านต่าง ๆ ดังนี้

ผลต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น และมีการกระจายการใช้จ่ายและการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศอย่างกว้างขวาง โดยหากมีการหยุดการดำเนินการจำหน่ายสินค้าในร้านค้าปลอดอากรขาเข้า 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่อคนต่อทริป เพิ่มขึ้นประมาณ 570 บาท

ผลต่อการใช้จ่ายของผู้เดินทางชาวไทย 

ผู้เดินทางชาวไทย อาจจะเลือกใช้จ่ายซื้อสินค้าปลอดอากรจากประเทศต้นทางเพื่อทดแทนหรือใช้จ่ายซื้อสินค้าประเภทเดียวกันในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยขึ้นกับปัจจัยในการตัดสินใจที่แตกต่างกัน

ผลต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ 

ผู้ประกอบการคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้าน Duty Free จะมีการสูญเสียรายได้อากรขาเข้าส่วนของการจำหน่ายสินค้าในร้าน Duty Free ขาเข้า หากมีการหยุดการจำหน่ายสินค้าในร้าน Duty Free ขาเข้าเป็นระยะเวลา 1 ปี

แต่คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านค้าและผู้เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยว และร้านค้าทั่วไป เสมือนได้รับเม็ดเงินหมุนเวียนใหม่เพิ่มเติมสูงสุด 3,460 ล้านบาทต่อปี เพื่อเป็นการสร้างโอกาส และส่งผลเชิงบวกต่อการผลิต การลงทุน และการจ้างงานได้

ผลต่อรายได้ของภาครัฐ 

สร้างเงินหมุนเวียนมีการกระจายสู่ผู้ประกอบการร้านค้าในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้เกิดการขยายฐานการจัดเก็บภาษีของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม

ผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม 

กรณีที่มีการหยุดดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้าน Duty Free ขาเข้า เป็นระยะเวลา 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (Gross Domestic Product : GDP) ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 0.012% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง แจ้งว่า ในขั้นตอนต่อไป หลังจากได้รายงานผลการศึกษาต่อครม.แล้ว กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการติดตามและประเมินผลของการหยุดดำเนินการของใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้าน Duty Free ขาเข้า อย่างใกล้ชิดต่อไป

 

ภาพประกอบข่าว การศึกษาแนวทางการยุบร้านค้า Duty Free ขาเข้า สนามบิน ของกระทรวงการคลัง

 

ปัจจุบันผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ผ่านทางท่าอากาศยานนานาชาติ โดยทั่วไปสามารถซื้อสินค้าโดยได้รับสิทธิยกเว้นอากร ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ 

  1. ของที่ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซื้อเพื่อใช้เองเป็นการส่วนตัว หรือใช้ในวิชาชีพ ราคารวมกันไม่เกิน 2 หมื่นบาท 
  2. บุหรี่ปริมาณไม่เกิน 200 มวน หรือซิการ์ หรือยาเส้น ปริมาณไม่เกินอย่างละ 250 กรัม หรือหลายชนิดรวมกัน ปริมาณไม่เกิน 250 กรัม แต่บุหรี่ต้องมีปริมาณไม่เกิน 200 มวน 
  3. สุรา ปริมาณไม่เกิน 1 ลิตร 

ขณะที่ร้านค้า Duty Free ปัจจุบัน มีนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้า Duty Free ขาเข้า จำนวน 3 ราย ดำเนินกิจการในท่าอากาศยานนานาชาติ 8 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ 

  • ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 
  • ท่าอากาศยานดอนเมือง 
  • ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 
  • ท่าอากาศยานภูเก็ต 
  • ท่าอากาศยานหาดใหญ่ 
  • ท่าอากาศยานอู่ตะเภา 
  • ท่าอากาศยานสมุย 
  • ท่าอากาศยานกระบี่ 

ทั้งนี้จากสถิติของกรมศุลกากร ในปี 2566 พบว่า ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้า Duty Free ทั้งหมด มียอดจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในร้านค้า Duty Free จำนวน 3,021.75 ล้านบาท