รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการยกเว้น "ค่าธรรมเนียมโรงแรม" โดยอนุมัติร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอไปก่อนหน้านี้นั้น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานต่าง ๆ ให้รับความคิดเห็นของสำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปพิจารณาดำเนินการด้วย
สำหรับความคิดเห็นของ สำนักงบประมาณ ระบุว่า เห็นด้วยด้วยกับร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ อย่างไรก็ดี เพื่อให้การดำเนินการตามร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เห็นควรให้กระทรวงมหาดไทยเร่งสร้างการรับรู้และความเข้าใจ และประโยชน์ที่จะได้รับเกี่ยวกับมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในโอกาสแรก
รวมทั้งให้กระทรวงมหาดไทย แจ้งไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อจัดทำประมาณการรายได้กำหนดไว้ในแผนการคลังระยะปานกลางให้ถูกต้องครบถ้วน และใช้เป็นกรอบในการวางแผนการดำเนินการทางการเงินการคลังและงบประมาณของประเทศ
พร้อมกันนี้ยังให้กระทรวงมหาดไทย จัดทำรายงานเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับกับการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริงกับประมาณการที่จัดทำ เสนอครม. เพื่อทราบเป็นประจำทุกสิ้นปีงบประมาณ ตามนัยแห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ต่อไป
ขณะที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอความเห็นว่า สศช.พิจารณาแล้วเห็นควรให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างกฎกระทรวงยกเว้น ค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. .... เนื่องจากมาตรการดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่าย และลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติมดังนี้
1.ควรพิจารณามาตรการส่งเสริมให้ธุรกิจโรงแรมสามารถปรับแนวทางการประกอบธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการจูงใจให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น
ทั้งนี้ การให้สิทธิประโยชน์หรือสิ่งจูงใจ (Incentive) แก่ธุรกิจโรงแรมจะส่งผลต่อการพัฒนาต่อยอดในการปรับปรุงสถานประกอบการที่จะเป็นการผลักดันให้การประกอบธุรกิจโรงแรมในไทยมีความเข้มแข็งและยั่งยืนมากขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะมาตรฐานความมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ “คาร์บอนเป็นศูนย์” (Net Zero Carbon) เพื่อรองรับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการให้บริการด้านที่พักในอนาคต
2.ควรพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรมในอัตราที่ไม่เท่ากัน โดยยึดหลักความเสมอภาค (Equity) ของผลประโยชน์ที่จะได้รับในธุรกิจโรงแรมแต่ละประเภท เพื่อให้ภาครัฐสามารถนำค่าธรรมเนียมธุรกิจโรงแรมที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวและบริการในภาพรวมให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่สูงขึ้น แทนการยกเว้นค่าธรรมเนียมเท่ากันทั้งหมดให้กับธุรกิจโรงแรมทุกราย
สำหรับมติครม. ครั้งนี้ ที่ประชุมได้อนุมัติหลักการร่างกฎหมายยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ปีละ 40 บาทต่อห้องพัก เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2569 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
ทั้งนี้มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรมนี้ ประเมินว่า จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 27,099,720 บาทต่อปี โดยพิจารณาจากจำนวนห้องพักของโรงแรมประจำปี พ.ศ.2567 จำนวน 677,493 ห้อง ค่าธรรมเนียมห้องละ 40 บาท
อย่างไรก็ตามการยกเว้นอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบและยังไม่อาจฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา