นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีมีข้อกังวลเรื่องหนี้สาธารณะของไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 64.29% ต่อจีดีพีนั้น ไม่กังวลว่าจะมีผลต่อการปรับเครดิตเรทติ้ง หรือปรับความน่าเชื่อถือของไทย เนื่องจากต่างชาติทราบดีว่าการคำนวณหนี้สาธารณะของไทยนั้นไม่ได้เป็นไปตามคำนิยามสากลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
ทั้งนี้ หากมีการปรับให้ตรงตามความนิยามดังกล่าว หนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ เพียง 57%ต่อจีดีพี ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก และแสดงให้เห็นว่าเสถียรภาพของประเทศมีความปลอดภัย
“ปัจจุบันหนี้สาธารณะไทย ได้บรรจุหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่รัฐไม่ได้ค้ำประกันเอาไว้ด้วย จึงทำให้หนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง ส่วนจะมีการปรับคำนิยามหนี้สาธารณะให้สอดคล้องกับสากลหรือไม่ มองว่ายังไม่มีความจำเป็น เนื่องจากต่างชาติทราบรายละเอียดเรื่องนี้ดี และหากจะมีการพิจารณาปรับเครดิตของไทย ต่างชาติก็จะดูข้อมูลค่อนข้างละเอียด”
ส่วนแผนการคลังระยะปานกลางของรัฐ ในปี (2568-2571) ซึ่งสัดส่วนหนี้สาธารณะใกล้แตะเพดาน 70% ต่อจีดีพีนั้น สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้คำนวณภายใต้การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติ่มขึ้น ฉะนั้น ตัวเลขหนี้สาธารณะจึงอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม หากรัฐได้ดำเนินนโยบายผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ และจีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะลดลงเช่นเดียวกัน
“ทุกบาทที่มีการกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มขึ้น รัฐบาลนำไปพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะสะท้อนกลับไปยังเศรษฐกิจ ให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น และหนี้สาธารณะก็จะลดลงตามลำดับ”