นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าประจำสัปดาห์ของการดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของกระทรวงการคลัง ว่า ผลการดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 – 4 กรกฎาคม 2567 นั้น
มีประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบได้รับอนุมัติให้ความช่วยเหลือทางการเงินไปแล้วจำนวน 13,557 ราย ยอดอนุมัติรวมทั้งสิ้น 643.13 ล้านบาท โดยจำนวนประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน (28 มิถุนายน 2567) จำนวน 223 ราย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.64 และเป็นยอดอนุมัติที่เพิ่มขึ้น 27.62 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 4.29
สำหรับเจ้าหนี้นอกระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืนตามที่กล่าวข้างต้น กระทรวงการคลังได้ส่งเสริมให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) เพื่อเป็นช่องทางให้เจ้าหนี้นอกระบบสามารถเข้ามาประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบให้แก่ประชาชนรายย่อย
ส่วนนิติบุคคลที่สนใจประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สามารถดูข้อมูลการยื่นคำขออนุญาตได้ที่ www.1359.go.th หรือโทรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาหนี้นอกระบบเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1359 ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้สนใจโทรสอบถามสายด่วน 1359 เกี่ยวกับรายละเอียดการขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่การออกใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์โดยกระทรวงการคลัง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 มีนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 1,144 ราย ใน 75 จังหวัด และ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2567 มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยสะสมทั้งสิ้น 4,313,611 บัญชี รวมเป็นวงเงิน 41,717.40 ล้านบาท
ซึ่งประชาชนที่สนใจขอกู้สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 75 จังหวัด ได้ที่ www.1359.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1359
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 – 2569 (แผนปฏิบัติการฯ) เพื่อยกระดับความรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชนสามารถบริหารจัดการเงินอย่างได้มีประสิทธิภาพและมีวินัยทางการเงิน ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้กลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีก
“สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้พัฒนาเครื่องมือชื่อว่า “แผนที่การเงินครัวเรือนไทย” ซึ่งเป็นการพัฒนาเครื่องมือเพื่อต่อยอดแผนปฏิบัติการฯ เพื่อชี้วัดระดับการพัฒนาด้านรายได้ ค่าใช้จ่าย การออม การลงทุน การเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมถึงตำแหน่งที่ควรได้รับการพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างเร่งด่วนนพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนไทยมีระดับทักษะทางการเงินที่เพิ่มขึ้น”