สรรพสามิตของบอีก 7 พันล้าน อุดหนุนอีวี ดึงค่ายรถตั้งฐานผลิต 4 หมื่นล้าน

08 ก.ค. 2567 | 02:54 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2567 | 02:55 น.

สรรพสามิต ชงครม. ของบอีก 7 พันล้าน อุดหนุนอีวี 3.5 หมื่นคัน ชี้มีค่ายรถลงทุนตั้งโรงงานในไทยแล้ว 4 หมื่นล้านบาท ระบุต้องผลิตรถคืนตามเงื่อนไข 1 แสนคัน สร้างฐานผลิตยานยนต์สมัยใหม่

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมได้ของบประมาณเพื่อจ่ายอุดหนุนการดำเนินมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มอีก 7,000 ล้านบาท จากสำนักงบประมาณ โดยเป็นการใช้งบประมาณกลาง อุดหนุนรถอีวีจำนวน 3.5 หมื่นคัน ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างรอเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป

โดยที่ผ่านมา กรมจ่ายเงินอุดหนุนรอบแรกไปแล้ว 7,000 ล้านบาท คิดเป็นรถอีวี 4 หมื่นคัน ซึ่งรวมแล้วใช้เงินอุดหนุนรวมประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต

สำหรับมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้น รัฐบาลวางเป้าหมายว่า ปี 2573 ต้องมีรถไฟฟ้า 30% ของฐานการผลิตรถยนต์ทั้งหมด โดยเราอยากให้ฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามาอยู่ในประเทศไทย เช่นเดียวกันกับฐานการผลิตรถยนต์สันดาป กรมสรรพสามิตจึงได้ออกมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV 3.0) และมาตรการ EV 3.5 ในปัจจุบัน

โดยมาตรการ EV 3.0 ที่ดำเนินการเมื่อปี 2565-2566 เริ่มเห็นทิศทางที่เปลี่ยนไปชัดเจน เราลดอัตราภาษีสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2% และรัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนให้ คันละ 1.5 แสนบาท แลกเงื่อนไขจะต้องผลิตรถยนต์ชดเชยจากในประเทศไทย แต่ในช่วงแรกให้สามารถนำเข้ารถอีวีได้ ซึ่งปัจจุบันมี 23 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการ

ขณะที่ปี 2568 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จะต้องมาผลิตชดเชยตามเงื่อนไข ขณะนี้เริ่มเห็นการเปิดโรงงาน และปัจจุบันมีโรงงานเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว 4 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการรักษาฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย

“ตามเงื่อนไขการผลิตรถไฟฟ้าชดเชยรถที่นำเข้ามา ในปี 2565-2566 มีทั้งหมดประมาณ 1 แสนคัน ฉะนั้น ปี 2567 ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย และผลิตรถอีวีให้ทันตามเงื่อนไข โดยหากผลิตทันในปีนี้ ทำเพียง 1 เท่า แต่ถ้าตั้งโรงงานไม่ทัน ปี 2568 ต้องผลิต 1.5 เท่า นี่จะทำให้เกิดฐานการผลิตในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม คาดว่าค่ายรถจะผลิตคืนทันปีแรก 8-9 หมื่นคัน”

นอกจากนี้ กรมยังระบุว่า ในปี 2569 จะต้องมีการผลิต หรือประกอบแบตเตอรี่ในประเทศไทย เนื่องจากรถยนต์อีวีใช้ส่วนประกอบหลัก คือ แบตเตอรี่ ฉะนั้น อุตสาหกรรมแบตเตอรี่จะต้องเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นเดียวกัน โดยขณะนี้มีเงินลงทุนสำหรับแบตเตอรี่แล้ว 2.5 หมื่นล้านบาท

“หากเอาแบตเตอรี่ชั้นสูงมา การผลิตระดับเซลล์ จะต้องเอาพาร์ทต่างๆ ของรถอีวีมาผลิตด้วย เช่น ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ในรถอีวี การปรับเกียร์ มอร์เตอร์ เป็นต้น ตอนนี้ก็มีเม็ดเงินเตรียมลงทุนในระบบดังกล่าว ที่จะเข้ามาในประเทศไทยอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท”

ขณะที่มาตรการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า หรือ EV 3.5 ยังคงสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพราะค่ายรถยนต์บางค่ายยังเข้าร่วมมาตรการไม่ทัน ซึ่งปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ร่วมมาตรการ และเซ็นสัญญากับกรมเพิ่มอีก 8 ราย รวมกับมาตรการ EV 3.0 ขณะนี้มีค่ายรถที่เข้าร่วมมาตรการรวมประมาณ 30 ราย

“มาตรการ EV 3.5 เริ่มในปี 2567 โดยเราให้เงินอุดหนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าลดลง เหลือสูงสุด 1 แสนบาท/คัน จากมาตรการ EV 3.0 ได้รับเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท/คัน ส่วนในปี 2568 เราจะลดเงินอุดหนุนเหลือ 7.5 หมื่นบาท/คัน และอีก 2 ปีต่อปีจะเหลือ เงินอุดหนุน 5 หมื่นบาท/คัน และจบมาตรการ ซึ่งเป็นการรักษาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เกิดขึ้น”

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าภาพรวมมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า เป็นการรองรับอุตสาหกรรมใหม่ หากเราไม่ทำ เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน จากอนาคตเราเคยเป็นท็อป 10 ของโลก ก็อาจจะไม่เหลือเลย ขณะเดียวกัน แม้ว่ารายได้จากการจัดเก็บภาษีรถยนต์อีวีจะลดลงจากการดำเนินมาตรการ แต่ประโยชน์ที่เกิดในประเทศ คือ ฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่