ครม.ยกเว้นค่าธรรมเนียม “รถบรรทุกสินค้าผ่านแดน” 300-500 บาท/คัน

09 ก.ค. 2567 | 11:59 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2567 | 12:04 น.

ครม.เห็นชอบยกเว้นค่าธรรมเนียมในการให้บริการของศุลกากร “รถบรรทุกสินค้าผ่านแดน” รวม 7 ประเภท อัตราตั้งแต่ 300-500 บาทต่อคัน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมในการให้บริการของศุลกากรที่เกี่ยวกับการผ่านแดนตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ โดยมีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการให้บริการของศุลกากร สำหรับรถบรรทุกขนส่งสินค้า รวม 7 ประเภท อัตราตั้งแต่ 300-500 บาท

สำหรับการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการให้บริการของศุลกากรที่เกี่ยวกับการผ่านแดน นั้น เดิมกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรฯ ข้อ 1 (11) บัญญัติให้กำหนดค่าธรรมเนียมในการให้บริการของศุลกากรที่เกี่ยวกับการผ่านแดนตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ดังนี้

  • รถกระบะบรรทุก รถตู้บรรทุก และรถบรรทุก คันละ 300 บาท
  • รถพ่วง รถกึ่งพ่วง รถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว และรถลากจูง คันละ 500 บาท

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ตลอดจนช่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนในประเทศ และในภูมิภาค จึงเห็นควรยกเว้นค่าธรรมเนียมในการให้บริการของศุลกากรเกี่ยวกับการผ่านแดนตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรฯ สำหรับรถบรรทุกขนส่งสินค้า รวม 7 ประเภท ได้แก่ รถกระบะบรรทุก รถตู้บรรทุก รถบรรทุก รถพ่วง รถกึ่งพ่วง รถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว และรถลากจูง  

พร้อมกันนี้ยังได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กค. โดยกรมศุลกากรได้รายงานการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการให้บริการของศุลกากรที่เกี่ยวกับการผ่านแดนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 - 2567 ที่เป็นจำนวนเงินโดยไม่ได้ประมาณการ ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 มีดังนี้

  • ปี 2565 จำนวน 64,854,856 บาท
  • ปี 2566 จำนวน 68,872,460 บาท
  • ปี 2567 จำนวน 41,679,155 บาท

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง แจ้งว่า การยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโลจิสติกส์ รวมทั้งช่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนในประเทศ และในภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวมต่อไป