คลังเร่งสรุปบริหารโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ หลังหมดสัญญาเช่า

10 ก.ค. 2567 | 00:04 น.

คลังเร่งสรุปบริหารโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ หลังหมดสัญญาเช่า มอบ ”สหการโรงแรม-ธพส.”หาแนวทางจัดการ ระบุสัญญาเช่าที่ดินและอาคารหมด ตั้งแต่ปี 64

นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดยสคร.ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานทั้งสองแห่ง ได้แก่ บริษัทสหการโรงแรมและการท่องเที่ยว จำกัด และบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ (ธพส.) เร่งหารือการบริหารสินทรัพย์ทั้งที่ดินและโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ให้มีความคุ้มค่า ตามมติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)

ทั้งนี้ หน่วยงานทั้ง 2 แห่ง จะร่วมศึกษาว่าควรที่จะให้สหการโรงแรมฯ เข้ามาควบรวมกับธพส. หรือให้สหการโรงแรมฯ เข้ามาจัดตั้งเป็นบริษัทลูกของธพส. เพื่อให้การบริหารสินทรัพย์ทั้งที่ดินและโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ

“สำหรับสหการโรงแรมฯ เป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% ได้ถือครองที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ จำนวน 9 ไร่ 3 งาน 98.5 ตารางวา และมีสัดส่วนการถือหุ้นราว 1 ใน 3 ในโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณฯ”

โดยสหการโรงแรมฯ ได้ให้โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณฯ เช่าที่ดินเป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากปี 2534 ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาการเช่าตั้งแต่ปี 2564 ปัจจุบันใช้สัญญาเช่าในลักษณะปีต่อปี

ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดสัญญาการเช่าที่ดินดังกล่าวแล้ว ทางสคร.และคนร.เห็นว่า การบริหารสัญญาเช่าและอาคารของโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณดังกล่าวควรก่อให้เกิดความคุ้มค่ามากกว่าปัจจุบัน ขณะที่ศักยภาพของสหการโรงแรมฯ ต่อการบริหารสัญญาเช่านับหมื่นล้านจะต้องมีเพียงพอ 

ดังนั้น คนร.จึงมอบหมายให้สหการโรงแรมฯเข้าไปควบรวมหรือตั้งเป็นบริษัทลูกในธพส.เพื่อให้ธพส.ซึ่งมีศักยภาพในการบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เข้ามาบริหารสัญญาเช่าโรงแรมดังกล่าว

“สหการโรงแรมฯ เขามีบุคลากรไม่ถึง 10 คน จึงไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้ามาบริหารทรัพย์สิน หรือสัญญาเช่าที่มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท เราเห็นว่า ธพส.มีศักยภาพ จึงให้ทั้งสองแห่งหารือกันว่า จะให้สหการโรงแรมฯ เข้ามาควบรวมหรือตั้งเป็นบริษัทลูกในธพส.เพื่อให้ธพส.เข้ามาบริหารสัญญาเช่าโรงแรมไฮแอท เอราวัณฯได้อย่างคุ้มค่า”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผลประโยชน์ที่รัฐได้จากการให้เช่าที่ดินและร่วมบริหารโรงแรมไฮแอท เอราวัณฯ อยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งเห็นว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าดังกล่าวแล้ว การบริหารทรัพย์สินดังกล่าว ควรที่จะมีมูลค่าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่ดินบริเวณดังกล่าวจะต้องมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามราคาตลาด

ขณะที่ปัจจุบัน สัดส่วนการถือหุ้นในโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ จะแบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย สหการโรงแรม 1 ส่วน อีกสองส่วนเป็นของภาคเอกชนและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยภายหลังสิ้นสุดสัญญาเช่าดังกล่าวแล้ว หากสหการโรงแรมหรือธพส.จะเข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินดังกล่าวใหม่ จะต้องให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นรายแรกพิจารณาว่า จะลงทุนรักษาสัดส่วนการถือหุ้นหรือไม่

“ทางบอร์ดของสหการโรงแรมฯ และโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ จะต้องมาหารือในประเด็นดังกล่าวว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาแล้ว ทางผู้ถือหุ้นรายแรกจะพิจารณาร่วมลงทุนใหม่หรือไม่ โดยจะต้องนำทรัพย์สินที่เป็นที่ดินที่ให้เช่ามาประเมินราคาใหม่เพื่อกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของสหการโรงแรมฯด้วย”